| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 73 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 30-05-2558    อ่าน 1340
 หยุดให้กู้อสังหาต่างจังหวัด รายใหม่หมดสิทธิ์-แบงก์ผวาNPL

อสังหาฯต่างจังหวัดซัพพลายล้นขายไม่ออก คอนโดฯดีมานด์ดิ่ง 60%ผู้ประกอบการรายใหญ่ถอย แบงก์หวั่นเอ็นพีแอลพุ่ง เข้มปล่อยกู้ดีเวลอปเปอร์ "กลาง-เล็ก" หน้าใหม่หมดสิทธิ์ รายเก่าเจอเช็กประวัติยิบ-หั่นวงเงิน "กรุงไทย" เน้นสินเชื่อเฉพาะกลุ่มท็อปมาร์เก็ตแชร์ "ซีไอเอ็มบี" โฟกัสโครงการใกล้นิคม

อสังหาโอดแบงก์บี้เช็กประวัติยิบ

นายกฤช หิรัญกิจ ประธานที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินเข้มงวดการพิจารณาปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อโครงการมาก หากเป็นผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กที่เป็นหน้าใหม่แทบจะไม่ปล่อยกู้เลย และเป็นทุกสถาบันการเงินไม่เฉพาะธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ส่วนถ้ามีประสบการณ์พัฒนาโครงการมาก่อน ถึงแม้จะอนุมัติสินเชื่อแต่วงเงินที่ได้ลดลง จากเดิมเคยให้ 80-90% ของที่ยื่นกู้ เหลือ 70-75% ของค่าก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯจะถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง

ถึงแม้มีประสบการณ์ทำโครงการก่อน แต่ถ้ามีประวัติโครงการในอดีตขายไม่ดี สถาบันการเงินก็อาจไม่ปล่อยกู้ การปรับตัวของผู้ประกอบการตอนนี้คือชะลอโครงการใหม่ เห็นได้จากภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 4 เดือนแรก โครงการใหม่เปิดตัวเพียง 3 โครงการ เป็นบ้านจัดสรรทั้งหมด

นายกฤชกล่าวว่า จากประสบการณ์พัฒนาที่ดินภายใต้ บริษัท ยูไนเต็ด เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ขณะนี้ยอดขายคอนโดมิเนียมชะลอตัว ปัจจุบันบริษัทมีโครงการไอคอนโด ในอำเภอเมืองที่กำลังเปิดขาย เดิมออกแบบไว้ 4 อาคาร แต่ปัจจุบันปรับแผนเปิดขาย 2 อาคาร หลังจากเปิดขายมาเกือบ 2 ปี ปัจจุบันมียอดขายรวม 70% จากทั้งหมด 135 ยูนิต และขายได้เดือนละ 1-2 ยูนิต จากช่วงเศรษฐกิจบูมได้เฉลี่ยเดือนละ 20 ยูนิต

สอดคล้องกับ นายอานนท์ น้อยอ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภานน จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านนนนิภา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หากขอสินเชื่อโครงการตอนนี้ สถาบันการเงินจะพิจารณาละเอียดมาก ตั้งแต่ 1) มีประสบการณ์หรือไม่ ถ้าไม่มีโอกาสกู้ผ่านจะน้อยมาก 2) ทำเลที่ตั้ง 3) สัดส่วนเงินทุน และการเบิกเงินต้องมียอดจองก่อน จึงจะเบิกเงินค่าก่อสร้างได้ และแม้บางรายถึงมีประสบการณ์ แต่โครงการในอดีตขายไม่ดี สถาบันการเงินก็ไม่ปล่อยกู้

ส่วนภาวะยอดขายขณะนี้ยังชะลอตัว โครงการบ้านนนนิภาวิวดอย เฟสที่ 4 จำนวน 87 ยูนิต ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 2-4 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 8-10 ยูนิต จากปีก่อนเฉลี่ยเดือนละกว่า 10-20 ยูนิต ประเมินว่ากำลังซื้อน่าจะชะลอตัวถึงปลายไตรมาส 3

หั่นวงเงิน-คอนโดหมดสิทธิ์

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม บ.อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในการพิจารณาสินเชื่อโครงการทราบว่า สถาบันการเงินยังปล่อยให้กับผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กที่มีประสบการณ์อยู่ แต่การอนุมัติยากขึ้นและได้วงเงินลดลง เช่น เดิมเคยได้ 70% ของที่ยื่นกู้ ปัจจุบันลดเหลือ 60% เป็นต้น ส่วนคอนโดฯจะไม่ปล่อยเลย ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องหยุดเปิดตัวโครงการเพิ่ม หรือลดขนาดโครงการลง จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว เพราะปัจจุบันกำลังซื้อยังไม่ฟื้น เทียบแล้วชะลอตัวจากปีก่อน 20%

นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาฯท้องถิ่นในเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมบ้านจัดสรรในเมืองพัทยา มียอดขายชะลอตัวลง 40% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ส่วนคอนโดฯชะลอตัวลง 60% เพราะเศรษฐกิจและลูกค้าชาวรัสเซียลดลง

ประเมินว่าภาพรวมไตรมาส 2-3 น่าจะตกต่ำที่สุด และเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 4 เพราะเข้าสู่ไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว การปรับตัวของบริษัทได้หยุดการพัฒนาคอนโดฯมาตั้งแต่ปี 2553 และพัฒนาเฉพาะบ้านจัดสรรร ขณะที่ภาพรวม 4 เดือนแรก แทบไม่เห็นผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กเปิดตัวโครงการคอนโดฯใหม่ เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมาก ถ้าเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ สถาบันการเงินจะไม่ปล่อยกู้เลย

นายพีระ หงส์ชยางกูร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท หาดใหญ่นครินทร์ จำกัด ในเครือ บมจ.ศุภาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังซื้อบ้านในหาดใหญ่ยังชะลอตัว ปัจจุบันโครงการปาล์มสปริง แกรนด์ วิลล์ เป็นบ้านเดี่ยวราคาเริ่มยูนิตละ 5 ล้านบาท มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 3-4 ยูนิต เทียบกับช่วงเศรษฐกิจดีขายได้เฉลี่ยเดือนละ 10 ยูนิต

การปรับตัวต้องมองทำเลขึ้นโครงการใหม่ให้รอบคอบขึ้น เป็นทำเลที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาในอนาคต เช่น ถนนพรุค้างคาว เป็นทำเลที่บริษัทจะเปิดโครงการใหม่ในครึ่งปีหลัง จุดเด่นคือมีสวนสาธาณะ และมีโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 เป็นโรงเรียนประจำขนาดใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่มทุนอสังหาฯจากส่วนกลางที่ก่อนหน้านี้แห่ขยายออกสู่ต่างจังหวัด ปีนี้ก็ชะลอกันไปอย่างชัดเจน อย่างกรณี บมจ.แสนสิริ ที่เปิดโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรรในต่างจังหวัดปี 2555-2556 ไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ อาทิ ภูเก็ต หัวหิน-ชะอำ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2557 ได้ชะลอเปิดโครงการคอนโดฯในต่างจังหวัด และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้หยุดการขายโครงการเดอะเบส เซ็นทรัล อุดรฯ ขณะที่ปี 2558 ยังไม่มีแผนเปิดคอนโดฯต่างจังหวัดเพิ่ม

"กรุงไทย" เน้นท็อปดีเวลอปเปอร์

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันแบงก์ได้หันมาโฟกัสการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับท็อปของอุตสาหกรรมเป็นหลักเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็สามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 10% จากเดิมมีไม่ถึง 5%

"กลุ่มสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้เราเน้นท็อปดีเวลอปเปอร์ โดยดูทั้งประเภทโครงการ ที่ตั้งโครงการ และดูโอกาสการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้ซื้อในโครงการของดีเวลอปเปอร์กลุ่มนี้ด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ใน Second Tier หรือ Third Tier หรือที่เป็นรายกลาง-เล็ก ช่วงนี้เราจะไม่ค่อยปล่อย เพราะกลุ่มนี้ยังมีปัญหาเรื่องหนี้เสียที่ยังเยอะอยู่ การโฟกัสท็อปดีเวลอปเปอร์ก็เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และใช้เวลาแก้ปัญหาของอดีตให้จบ" นายวรภัคกล่าว

นอกจากนี้ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ปรับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และลูกค้ารายย่อย เป็นการรวมศูนย์การพิจารณาสินเชื่อไว้ที่ส่วนกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อย่นเวลาพิจารณาสินเชื่อให้เร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้สามารถลดเวลาให้เหลือภายใน 8-10 วัน จากเดิมใช้เวลาถึง 30 วัน ทั้งมีวัตถุประสงค์เพิ่มตะแกรงการคัดกรองสินเชื่อให้เข้มมากขึ้น เพื่อป้องกันหนี้เสียในอนาคต จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อของแบงก์เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับงบฯแบงก์กรุงไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/58 พบว่า มีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น 10,377 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.35% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2557 โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กและลูกค้ารายย่อย

เคแบงก์ไม่ให้กู้หน้าใหม่-ไซซ์เล็ก

ขณะที่นายพัชรสมะลาภารองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กลุ่มดีเวลอปเปอร์รายเล็กที่เป็นรายใหม่ ธนาคารไม่ได้ขยายสินเชื่อเพิ่มมาประมาณ 2 ปีแล้ว เนื่องจากมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะล้นตลาด และหากไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงในตลาดและไม่มีความพร้อมทางการเงินจริง ก็อาจทำธุรกิจได้ลำบาก

สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมของธนาคารจะเป็นการปล่อยแบบรวมศูนย์ที่สำนักงานใหญ่เท่านั้นไม่เคยกระจายอำนาจการปล่อยสินเชื่อให้แก่สาขาเนื่องจากต้องการคัดกรองลูกค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น หากปล่อยให้สาขาสามารถอนุมัติสินเชื่อได้อาจเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไป และที่สำคัญคือธนาคารไม่ได้ต้องการเร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขนาดนั้น

ด้านนายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาธนาคารค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม คอมมิวนิตี้มอลล์ เนื่องจากมองว่าเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายแล้ว รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชผลเกษตร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้นผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้ ธนาคารอาจเรียกเอกสารหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติม โดยเลือกลูกค้าที่มีประวัติการเงินดี มีผลงานชัดเจนก่อน ส่วนลูกค้าใหม่ก็ต้องไม่มีประวัติการเป็นหนี้เสียในรอบ 2 ปี

ปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชผลการเกษตรประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวมที่มีอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์สัดส่วนประมาณ 9%

อย่างไรก็ตาม นโยบายการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารจะเน้นการกระจายความเสี่ยง โดยควบคุมสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อของในแต่ละกลุ่มไว้ให้อยู่ในระดับประมาณ 5-10% ขณะที่ขั้นตอนการอนุมัติจะสกรีนถึง 2 ชั้น ผ่านเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้า (RM) กว่า 180 คน ใน 25 ศูนย์ธุรกิจทั่วประเทศ ที่จะพิจารณาข้อมูลในเบื้องต้นประมาณ 80-90% จากนั้นจะส่งต่อมาที่สำนักงานใหญ่ให้เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเพื่อควบคุมการเกิดเอ็นพีแอล วิธีการดังกล่าวส่งผลให้เอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารขณะนี้อยู่ในระดับไม่ถึง 1%

"กลุ่มอสังหาฯเราจะเลือกปล่อยในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น อพาร์ตเมนต์ให้เช่าใกล้นิคมอุตสาหกรรม บ้านเดี่ยวตามหัวเมืองใหญ่ แต่คอนโดฯตอนนี้เราค่อนข้างระมัดระวัง และภาพโดยรวมของธุรกิจเอสเอ็มอีก็คงจะต้องระมัดระวังมากขึ้น ๆ จนกว่าจะเริ่มเห็นการอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบ ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่และการลงทุนระดับภูมิภาค ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและกว่าจะเห็นภาพที่เอสเอ็มอีฟื้นดีขึ้นชัดเจน อาจจะเป็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2559" นายจิรัชยุติ์กล่าว

สินเชื่อQ1 ลด 1.8 หมื่นล้าน

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจในไตรมาส 1/58 มียอด คงค้างอยู่ที่ 7.73 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 1.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีเอ็นพีแอลคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 3.56 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 4.5% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม 3.5% ธุรกิจบริการ 3.2% ภาคการพาณิชย์ 3.1% และสาธารณูปโภค 1.0%

คอนโดฯ ตจว.ล้น-ดีมานด์ดิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารเกียรตินาคินได้เปิดเผยผลวิจัยตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองต่างจังหวัดพบว่า เมื่อเปรียบเทียบช่วงครึ่งปีหลัง 2556 และครึ่งปีหลัง 2557 ส่วนใหญ่มีดีมานด์ลดลง ได้แก่ คอนโดฯจังหวัดภูเก็ต มีดีมานด์ลดลง 29% โครงการแนวราบจังหวัดชลบุรี ดีมานด์ลดลง 38% โครงการคอนโดฯจังหวัดชลบุรี ดีมานด์ลดลง 47% โครงการคอนโดฯจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 62% และโครงการแนวราบจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 66%

นายวิศรุต ปัญญาภิญโญผล ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผยว่า ภาพรวมคอนโดฯในต่างจังหวัดมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีซัพพลายคงเหลือจำนวนมาก คาดว่าต้องใช้เวลาดูดซับอีก 1-2 ปี จึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุน

เมื่อเปรียบเทียบผลวิจัยช่วงครึ่งปีหลัง 2556 และครึ่งปีหลัง 2557 กรณีจังหวัดชลบุรี โครงการคอนโดฯเมืองพัทยา พบมีอัตราดูดซับ 21% และดีมานด์ติดลบ 41%, จังหวัดภูเก็ต (ตอนล่าง) คอนโดฯมีอัตราดูดซับ 18% และมีดีมานด์ติดลบ 57%, จังหวัดเชียงใหม่ โครงการคอนโดฯในอำเภอเมือง มีอัตราดูดซับ 21% ดีมานด์ติดลบ 62% ฯลฯ
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 30-05-2558 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.