| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 434 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 09-12-2557    อ่าน 1356
 ผุดทางเลียบเจ้าพระยา พระราม3-นั่งเกล้าตอกเสาเข็มต.ค.58

พิมพ์เขียว "ทางเลียบเจ้าพระยา" 3 หมื่นล้าน กทม.ออกแบบแล้ว ชง ครม. 9 ธ.ค.ปักหมุดสร้าง 2 ฝั่งแม่น้ำยาว 50 กม. จาก "สะพานพระราม 3-พระนั่งเกล้า" เนรมิตทางจักรยาน-คนเดิน-รถเมล์ไฟฟ้า-จุดชมวิวรับท่องเที่ยว เฟสแรก ต.ค. 58

นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ กทม.เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ศึกษาและดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมีโมเดลของประเทศเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นกับกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณด้านการก่อสร้างทั้งหมดให้ กทม.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดในแง่ของการลงทุนว่า ต้องใช้เงินงบประมาณดำเนินการจำนวนเท่าใด ต้องรอดูผลสรุปรายละเอียดการออกแบบโครงการก่อน

"โครงการนี้กระทรวง มหาดไทยเร่งรัดมาก มีเป้าหมายจะให้เริ่มต้นได้ทันในรัฐบาลนี้ แต่ กทม.มีข้อจำกัดเพราะต้องสำรวจ และออกแบบโครงการ แต่จะเร่งดำเนินการเต็มที่"

ผุดทางจักรยาน-รถเมล์ล้อยาง

นาย สัญญากล่าวว่า สำหรับรูปแบบการก่อสร้างจะสร้างยื่นออกไปจากริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตอม่อโครงสร้างจะสร้างอยู่ในน้ำ ประกอบด้วย ทางสำหรับจักรยาน ทางคนเดิน และทางสำหรับรถขนส่งสาธารณะ ขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นระบบที่ไม่ก่อเกิดมลพิษ เพื่อวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในแนวเส้นทาง เช่น รถเมล์ล้อยาง รถเมล์ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ จะพัฒนาพื้นที่ส่วนอื่นประกอบให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม สามารถใช้ประโยชน์เป็นสถานที่พักผ่อน ที่ท่องเที่ยว อย่างเช่นในช่วงที่เป็นโค้งเว้าของแม่น้ำเจ้าพระยา จะพัฒนาเป็นศาลาที่พักริมแม่น้ำ และสวนสาธารณะ หรือลานกิจกรรม สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย เส้นทางที่จะก่อสร้างนี้ จะไม่ให้รถยนต์เข้ามาวิ่ง เพื่อให้คนมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำ

ขณะเดียวกันหากผ่านช่วงที่เป็นสถานที่สำคัญ เช่น วัด โบราณสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ฯลฯ ก็จะพัฒนาให้สวยงามคล้าย ๆ เป็นแลนด์มาร์ก เพื่อทำเป็นจุดท่องเที่ยวไว้รองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำ และใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วมอีกส่วนหนึ่งด้วย เนื่องจากโครงสร้างที่สร้างออกไปริมแม่น้ำจะสามารถใช้เป็นพนังป้องกันน้ำ ท่วมในอนาคตได้

แก้ปัญหาผู้บุกรุกลำน้ำ

ปลัด กทม.กล่าวอีกว่า โครงการนี้ กทม.ได้ออกแบบเป็นแนวคิดเบื้องต้น และนำเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และขออนุมัติหลักการแล้ว หากได้รับความเห็นชอบขั้นตอนต่อไป กทม.จะออกแบบรายละเอียดโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการยังเป็นเพียงแนวคิด ต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมถึงศึกษาและจัดทำแผนการรื้อย้ายผู้บุกรุกริมน้ำ โดยเฉพาะช่วงสะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร อาจต้องรื้อย้ายอาคารสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เพราะมีการบุกรุกลำน้ำหลายร้อยครัวเรือน ส่วนบริเวณอื่น อาทิ อู่ต่อเรือบางพลัด เป็นต้น

"แนวเส้นทางอาจต้องปรับจากเดิมที่เราออก แบบไว้ จะสร้างจากสะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7 ล่าสุด มีนโยบายให้ขยายระยะทางเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะเป็นระยะทางฝั่งละ 20-30 กิโลเมตร"

ขีดแนว 50 กม. ลงทุน 3 หมื่น ล.

ขณะ ที่แหล่งข่าวจาก กทม. เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่า คาดว่าในการประชุม ครม.วันที่ 9 ธันวาคมนี้ กระทรวงมหาดไทยจะนำโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาให้ ครม.พิจารณาและอนุมัติในหลักการก่อนจะออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยพัฒนาปรับปรุงจากแบบล่าสุดที่ กทม.ออกแบบไว้ โดยแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสะพานพระราม 3-สะพานพระนั่งเกล้า รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร หรือฝั่งละ 25 กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้างโดยรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 500-600 ล้านบาท

รูปแบบโครงการแต่ละฝั่ง จะสร้างยื่นออกมาจากริมตลิ่งแม่น้ำกว้างประมาณ 16 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 4 ช่องจราจร ประกอบด้วย ทางสำหรับรถขนส่งสาธารณะ 2 ช่องจราจร ที่เหลือจะเป็นช่องทางสำหรับทางจักรยาน ให้วิ่งสวนทางกันได้ ทางสำหรับคนเดิน และศาลาที่พักริมแม่น้ำ ซึ่งจะกระจายอยู่เป็นจุด ๆ ตามศักยภาพของพื้นที่ เช่น บริเวณอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ บริเวณไหนที่เป็นจุดเว้า จุดโค้ง จะพัฒนาเป็นลานกิจกรรมไว้สำหรับออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น

เฟสแรก "ปิ่นเกล้า-พระราม 7"

แหล่ง ข่าวกล่าวว่า จากทั้งโครงการ เบื้องต้น กทม.จะเริ่มก่อสร้างเฟสแรก ช่วงสะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7 รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร พัฒนาฝั่งละ 5-7 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง และเวนคืนประมาณ 7-8 พันล้านบาท หาก ครม.อนุมัติหลักการ กทม.จะเร่งออกแบบรายละเอียด ตั้งเป้าจะเริ่มสร้างเดือนตุลาคม 2558 ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีแล้วเสร็จ จะเปิดใช้ได้ในปี 2560-2561 จากนั้นจะทยอยก่อสร้างส่วนที่เหลือ ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายจะให้ กทม.ก่อสร้างเต็มโครงการ หรือจะทยอยดำเนินการเป็นเฟส ๆ

นอกจากนี้ กทม.จะนำเสนอโครงการทางเดินเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณศิริราช บรรจุไว้ในโครงการทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นจุดเสริมให้กับโครงการด้วย โดยรูปแบบจะเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 350 เมตร สำหรับทางจักรยานและทางคนเดิน พร้อมมีจุดชมวิวกลางแม่น้ำด้วย ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดจุดที่ตั้ง ที่จะก่อสร้างโครงการ มีหลายทางเลือก เช่น ระหว่างท่าเรือข้ามฟากศิริราช ท่าพระจันทร์ เป็นต้น

"เป้าหมายของโครงการนี้มีหลากหลาย หลัก ๆ ก็เพื่อการให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความงามของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางสำหรับประชาชนในพื้นที่ เพราะจะมีระบบขนส่งมารองรับ สามารถเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า และท่าเรือต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทาง เพราะจะเปิดจุดเข้าออกให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ง่าย"

สั่ง กทม.-กรมเจ้าท่า เร่งมือสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีหนังสือสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดพื้นที่สำหรับใช้ ประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย และสะพานพระราม 8 ในลักษณะโครงการอเนกประสงค์ (Mixed Use) โดยการสร้างเขื่อนตลอดแนวพื้นที่ โดยแนวเขื่อนจัดเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ และใต้แนวเขื่อนก่อสร้างท่อระบายน้ำเพื่อนำน้ำออกสู่ทะเล และป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคต โดยให้ศึกษาแนวทางการดำเนินการจากประเทศที่ได้มีการสร้างพื้นที่ใช้ประโยชน์ ในลักษณะนี้แล้ว เช่น สาธารณรัฐเกาหลี

ทั้งนี้ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแนวคิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มอบเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่ คสช.เข้าบริหารประเทศ หลังเข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 09-12-2557 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.