| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 55 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 06-08-2557    อ่าน 1397
 เปิดประมูลรถไฟฟ้า6สาย ต.ค.นี้ ทางคู่จ่อคิว"คลัง-สศช."ดันฟื้นเศรษฐกิจ

คลัง-คมนาคมบูมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คลัง-สศช.หนุนเปิดประมูล ต.ค.นี้ ปลุก ศก.ฟื้นเชื่อมั่น เฟสแรก 1.53 ล้านล้าน รถไฟฟ้า 6 สาย รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ลุยถนน-ท่าเรือ-สนามบิน ก่อนคิกออฟใหญ่ปี"58

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมลงทุนโครงการในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไทยภายใต้กรอบปี 2558-2565 หลังที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบ จากนั้น คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 110/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาทก็ได้รับความเห็นชอบ โดยในระยะเร่งด่วนจะเน้นโครงการที่มีเงินและทำได้จริงมาก่อนทั้งบก ราง น้ำ และอากาศ จะเริ่มปี 2557-2558 ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการต่อเนื่อง



แหล่งเงินลงทุนมาจาก 4 แหล่ง 1.งบประมาณประจำปีจัดสรรให้โครงการลงทุนส่วนราชการและค่าเวนคืนที่ดินรัฐวิสาหกิจ 2.เงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จัดสรรให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เช่น งานโยธา ระบบราง 3.รายได้และเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนในรูปแบบให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จัดสรรให้โครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และ 4.โครงการใดมีศักยภาพเพียงพอระดมทุนในรูปแบบกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็จะดำเนินการ ทั้งหมดจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

คมนาคมกดปุ่ม 1.5 ล้านล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า แม้ว่าเงินลงทุนรวมทั้งหมดจะยังไม่ลงตัว แต่โครงการที่พร้อมเปิดประมูลได้ทันทีตามความพร้อม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.53 ล้านล้านบาท สอดรับกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เสนอให้ คสช.เร่งสปีดลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีงบฯ 2558 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 เป็นต้นไป ประกอบด้วย รถไฟฟ้า 6 สายทางเงินลงทุน 317,503 ล้านบาท ได้รับค่าเวนคืนที่ดินแล้ว ได้แก่ สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เงินลงทุน 58,878 ล้านบาท สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 58,303 ล้านบาท สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) 110,325 ล้านบาทสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 56,110 ล้านบาทสีแดง (รังสิต-ธรรมศาสตร์) 5,447 ล้านบาท สายต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง 28,440 ล้านบาท

รถไฟทางคู่เงินลงทุน 901,677 ล้านบาทเป็นระยะเร่งด่วน 6 สายทาง ขนาดราง 1 เมตร ระยะทาง 887 กิโลเมตร เงินลงทุน127,472 ล้านบาท ได้แก่ จิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร 26,007 ล้านบาท, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร 17,293 ล้านบาท, นครปฐม-หัวหิน 165 กิโลเมตร 20,038 ล้านบาท, มาบกะเบา-จิระ 132 กิโลเมตร 29,855 ล้านบาท, ลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร 24,842 ล้านบาท และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กิโลเมตร 9,437 ล้านบาท

"จะมีอีกสายอยู่ระหว่างประมูล คือ ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย 106 กิโลเมตร 11,348 ล้านบาท รวมถึงการติดตั้งเครื่องกั้น ซื้อหัวรถจักร รถโดยสารใหม่ แคร่โดยสาร วงเงินประมาณ 21,397 ล้านบาท ที่จะมารองรับกับรถไฟทางคู่ที่จะสร้างเสร็จอีก 5 ปีข้างหน้านี้"

อีกทั้งยังมีรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร 2 สาย 741,460 ล้านบาท ระยะทาง 1,392 กิโลเมตร เริ่มศึกษาปี 2558 ก่อสร้างปี 2559 แล้วเสร็จปี 2564 แยกเป็นสายหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด 737 กิโลเมตร 392,570 ล้านบาท และสายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี655 กิโลเมตร 348,890 ล้านบาท เริ่มศึกษา ปี 2558 ก่อสร้างปี 2559 แล้วเสร็จปี 2564 เป็นรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนใต้ ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถขนได้ทั้งสินค้าและผู้โดยสาร

ลุยงานถนน-ทางน้ำ-สนามบิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้านงานถนนเป็นเส้นทางที่เชื่อมประตูการค้าและเชื่อมโยงระหว่างประเทศและเมืองหลักในภูมิภาค เงินลงทุนรวม 163,126 ล้านบาทเช่น ขยาย 4 ช่องจราจร 65,250 ล้านบาทเช่น สายกระบี่-ห้วยยอด สายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย, งานบูรณะถนนสายหลักระหว่างภาค12 สาย 34,820 ล้านบาท เช่น ทางหลวงหมายเลข 1, มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด16,000 ล้านบาท, ถนนลาดยาง 38,483 ล้านบาท, ถนนท่องเที่ยว 5,722 ล้านบาท และโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก 8,674 ล้านบาท

สำหรับทางน้ำ เงินลงทุนรวม 21,506 ล้านบาท เช่น พัฒนาท่าเรือชายฝั่งแหลมฉบัง1,164 ล้านบาท ท่าเรือปากบารา 15,260 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำป่าสัก 3,801 ล้านบาท ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ 1,281 ล้านบาท

ส่วนสนามบินวงเงินลงทุน 113,623 ล้านบาท เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ 60,867 ล้านบาท ดอนเมือง 7,304 ล้านบาท ภูเก็ต 4,080 ล้านบาท เชียงใหม่ 250 ล้านบาท เบตง 1,810 ล้านบาท แม่สอด 965 ล้านบาทจัดระบบจราจร 2,378 ล้านบาท ปรับปรุงฝูงบิน 35,969 ล้านบาท และยังมีการจัดซื้อรถเมล์ จำนวน 3,183 คัน และสร้างอู่จอด 5 แห่ง วงเงิน 13,416 ล้านบาท

คลังชี้เงินในประเทศเหลือเฟือ

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตรียมหารือเรื่องแหล่งเงินกู้ที่จะใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หลัง คสช.เห็นชอบยุทธศาสตร์เมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาการลงทุนระยะแรกจะเน้นรถไฟทางคู่ และรถไฟสายสีต่าง ๆ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังชะลอไว้ก่อน การกู้เงินเพื่อลงทุน ต้องการให้ใช้เงินในประเทศเป็นหลักเนื่องจากสภาพคล่องยังมีมาก เห็นได้จากหลายธนาคารยังมีปริมาณเงินฝากไหลเข้าค่อนข้างมาก แม้ในระยะข้างหน้าจะปล่อยกู้เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนน่าจะน้อยกว่าปริมาณเงินฝากที่มีเข้ามา

สำนักงบฯชี้คิกออฟใหญ่ปี 58

ขณะที่นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. หรือภายในปีงบฯ 2557 จะมีโครงการลงทุนด้านคมนาคมบางส่วนจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่อย่างน้อย1-2 สาย ที่สำรวจออกแบบ และผ่านอีไอเอแล้ว คือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ปีงบฯ 2558 จะเริ่มลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ 11 เส้นทาง จะจัดซื้อจัดจ้างได้ปี 2558 อาจไม่ใช้เงินจากงบประมาณ แต่จะเป็นเงินกู้หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

"ในงบฯปี 2558 จะมีงบฯลงทุนด้านคมนาคมอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือต้องตกลงกันว่าจะใช้เงินกู้เท่าไหร่ เงินกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่าไหร่ จะประชุมเร็ว ๆ นี้ โครงการส่วนใหญ่จะเริ่มต้นในปีงบฯปี 2558 และต่อเนื่องไปในปีต่อ ๆ ไป โดยงบฯปี 2558 จะลงทุนระบบราง ถนน โดยใช้สำรวจออกแบบ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินรางคู่ 11 เส้นทาง"

ภาพรวมงบฯลงทุนในปีงบฯ 2558 มีสัดส่วนเท่ากับงบฯลงทุนปีงบฯ 2557 คือ 17% แต่วงเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรให้แก่โครงการที่มีความพร้อมเรื่องการสำรวจออกแบบ การประมาณราคา และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปี จะทำให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนทำได้สูงขึ้นเป็น 82-85% จากที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 80% ในปีงบฯ 2557

ภาระหนี้สาธารณะไม่เกิน 50%

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.เตรียมประชุมคณะทำงานภายใน เพื่อหารือเรื่องแหล่งเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 ส.ค.นี้ โดยจะพิจารณาแหล่งเงินสำหรับการลงทุนระยะ (เฟส) แรก ในปีงบฯ 2558 จากนั้นจะผูกพันไปจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ บางโครงการจะผูกพันถึงปี 2564 ทั้งนี้ ยืนยันว่าในเฟสแรกนี้จะอยู่ภายใต้กรอบบริหารจัดการหนี้สาธารณะต่อจีดีพีระดับไม่เกิน 50%

"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะมี 3 ระยะ โดยระยะแรกคือทำได้ทันทีในปีงบฯ 2558 ซึ่งการไฟแนนซ์เงินลงทุนก็จะทำในระยะแรกนี้ออกมา ทั้งนี้ แหล่งเงินก็จะมาจาก 1) งบประมาณ 2) แผนการก่อหนี้ 3) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือ การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP และ 4) รายได้รัฐวิสาหกิจเอง"

กางงบฯเฟสแรก 6 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กรอบเงินลงทุนเฟสแรก ซึ่งเป็นโครงการที่จะเริ่มในปี 2558 และบางส่วนจะผูกพันไปถึงปี 2564 จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 5.94 แสนล้านบาท ซึ่งเฉพาะในปี 2558 จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 1.47 แสนล้านบาท และปี 2559-2564 จะใช้เงินลงทุนอีกกว่า 4.46 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในเฟสแรกนี้ ส่วนใหญ่จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ โดยช่วงปี 2558-2564 ใช้งบฯจำนวนกว่า 2.38 แสนล้านบาท รองมาคือเงินกู้กว่า 1.83 แสนล้านบาท รายได้รัฐวิสาหกิจกว่า 1.27 แสนล้านบาท และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ PPP อีกกว่า 4.53 หมื่นล้านบาท

"สำหรับปีงบประมาณ 2558 จะใช้งบประมาณแค่กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ที่จะใส่ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 อีกกว่า 4.48 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะใช้เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ PPP" แหล่งข่าวกล่าว

ชี้ผลบวกทางเศรษฐกิจเห็นปีหน้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากงบฯปีแรกยังไม่มาก ปีนี้คงได้ส่วนหนึ่งในแง่ความเชื่อมั่น ซึ่งเอกชนจะลงทุนตาม เพราะนักลงทุนทั้งในประเทศ ต่างประเทศก็สนใจกันหมด ส่วนผลต่อเศรษฐกิจคงมีในปีหน้า ส่วนปีนี้มีบ้าง คงไม่มากนัก

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ การลงทุนของภาครัฐจะไปมีเม็ดเงินมากขึ้นในช่วงปลายปีหน้า อย่างไรก็ดี ปีหน้าจะมีทั้งการลงทุนรัฐและการลงทุนเอกชน

ขณะเดียวกันผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จะทำให้สภาพคล่องในระบบมีโอกาสจะลดลง และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินบาทจะผันผวนไปจนกว่าสหรัฐจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แต่ประเทศไทยยังมีเงินทุนสำรองในระดับสูง ทำให้ยังสามารถบริหารสภาพคล่องได้ไม่ยาก
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 06-08-2557 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.