| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 34 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 20-06-2557    อ่าน 1444
 เฟสแรก"คสช."พร้อมกดปุ่มประมูล 7.3แสนล้านดึง"เอกชน"ลงทุนร่วม

เปิดโผโปรเจ็กต์คมนาคมลงทุนเฟสแรก 7.3 แสนล้าน พร้อมกดปุ่มประมูล เวนคืนและศึกษาออกแบบโครงการ ดีเดย์ปีนี้ ประมูลรถสายสีเขียว "หมอชิต-คูคต" และสีแดง "รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์" จัดซื้อหัวรถจักร-ซ่อมรางรถไฟ-ซื้อรถเมล์ NGV ฉลุย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดทำโรดแมปโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืบหน้าไปมาก หลังคมนาคมหารือกับกระทรวงการคลังล่าสุด โครงการที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2566 วงเงินลงทุนรวม 2.469 ล้านล้านบาท (ไม่รวมไฮสปีดเทรน) จะดำเนินการได้ทันที เป็นแผนงานระยะที่ 1 (2558-2564) เงินลงทุน 730,944 ล้านบาท จะดูตามความพร้อมโครงการ โดยปีงบประมาณ 2558 จะใช้เงินลงทุน 194,585 ล้านบาท (รวมเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ) จาก 3 แหล่ง คืองบประมาณประจำปี เงินกู้ หรือรายได้รัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมลงทุน



ปีนี้ประมูลรถไฟฟ้าสี "เขียว-แดง"

โครงการพร้อมประมูลทันทีในปีนี้ มีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร 38,165 ล้านบาท คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาปลายปี จากนั้นปี 2558 เริ่มเวนคืนและก่อสร้าง แล้วเสร็จปี 2562 รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 5,412 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือยังต้องรอขั้นตอนขออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒน์ และ คสช. จะเริ่มได้ปี 2558 เป็นต้นไป ได้แก่ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีแดง (บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) ส่วนสายทางอื่น อยู่แผนงานระยะที่ 2 โดยสำนักงบฯให้ค่าเวนคืน 3 สาย คือสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง ส่วนค่าก่อสร้างจะใช้เงินกู้

ซ่อมราง-ซื้อหัวรถจักรฉลุย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีแผนงานที่เริ่มได้เลย คือโครงการปรับปรุงระบบ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 21,712 ล้านบาท เช่น ติดตั้งระบบโครงข่ายคมนาคม อาณัติสัญญาณ เครื่องกั้นถนนเสมอระดับดิน หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 70 คัน ซ่อมบำรุงรถจักร 56 คัน โบกี้รถบรรทุกสินค้า 308 คัน รถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน มีกรอบวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติไปแล้วเมื่อปี 2553 จำนวน 1.76 แสนล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.สามารถดำเนินการได้ทันที

รางคู่ให้แค่กรอบค่าเวนคืน

สำหรับรถไฟทางคู่ 17 สายทาง เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และไม่ได้ศึกษาออกแบบรายละเอียด กระทรวงการคลังจึงไม่อนุมัติเงินให้ แต่ได้ค่าเวนคืน 1,500 ล้านบาท จากทั้งหมด 3,000 ล้านบาท

ในส่วนของรถไฟทางคู่เร่งด่วน 5 สาย ระยะทาง 767 กิโลเมตร เงินลงทุน 118,816 ล้านบาท ได้แก่ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, นครปฐม-หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

รวมถึงค่าเวนคืนบางส่วนรถไฟสายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 77,485 ล้านบาท และให้งบฯศึกษาอีก 8 สายทางที่เหลือเพื่อดำเนินการระยะต่อไป ได้แก่ สายปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์, บ้านไผ่-นครพนม และชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง จะเริ่มสร้างปี 2560-2563

กู้ซื้อรถเมล์-ลงทุนสนามบิน

และได้เห็นชอบให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน และอู่จอดรถ 13,416 ล้านบาท โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้เงินกู้จัดซื้อรถ ส่วนอู่จอดรถให้ใช้งบประมาณ ขณะที่การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท และสนามบินดอนเมือง อีกกว่า 7 พันล้านบาท ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และจัดหาเครื่องบินของ บมจ.การบินไทย อีกกว่า 3.5 หมื่นล้าน ให้ใช้รายได้ลงทุนเอง

ล่าสุดคลังและคมนาคมได้ข้อสรุปร่วมกันว่ากรอบงบฯ ลงทุนของคมนาคมปี 2558 อยู่ที่ 141,422 ล้านบาท แยกเป็นงบฯ ลงทุนหน่วยงานราชการ 107,181 ล้านบาท งบฯ รัฐวิสาหกิจ 34,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2557 ที่ 5%

ส่วนโครงการอื่น ๆ มีแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ระยะที่ 1 วงเงิน 7,087 ล้านบาท ถนนลาดยาง ถนนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสะพานในภูมิภาค 38,483 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำป่าสัก 3,819 ล้านบาท เป็นต้น

ทล.กดปุ่มประมูล 3.8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงบฯ เบื้องต้นเห็นด้วยตามที่กรมเสนอไป ซึ่งกรมมีโครงการพร้อมประมูลทันทีปีนี้ วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ถนน 4 เลน เช่น กบินทร์บุรี-ปักธงชัย 2,800 ล้านบาท สายตาก-แม่สอด 2,400 ล้านบาท เป็นต้น สะพานข้ามทางรถไฟ 10 แห่ง สะพานต่างระดับและจุดกลับรถ โครงข่ายถนนเชื่อมโยงระหว่างประเทศ บูรณะทางสายหลัก 2 หมื่นล้านบาท งานซ่อมถนนจะแล้วเสร็จใน 1 ปี ส่วนที่เหลือจะผูกพัน 3-5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2560

สร้างมอเตอร์เวย์สายอีสาน

นอกจากนี้ ยังได้รับจัดสรรค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์ 2 สาย คือสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ซึ่งกรมเสนอให้ก่อสร้าง ตอนที่ 1 จากบางปะอิน-ปากช่อง ระยะทาง 96 กิโลเมตร เงินลงทุน 51,970 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท และก่อสร้าง 45,340 ล้านบาท โดยค่าก่อสร้างจะใช้เงินกู้หรือให้เอกชนร่วมลงทุน อีกสายเป็นสายพัทยา-มาบตาพุด 89 กิโลเมตร ได้รับค่าเวนคืน 2,500 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้าง 14,000 ล้านบาท จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์

ชะลอโปรเจ็กต์ใหญ่-รอศึกษาตรึม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการที่จะศึกษา ออกแบบรายละเอียด และทำอีไอเอในปี 2558 นอกจากรถไฟทางคู่ 8 สาย มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) เริ่มเวนคืนปี 2560 สร้างปี 2561-2566, ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก เวนคืนปี 2560 ก่อสร้างปี 2561-2563, สถานีขนส่งสินค้า 15 แห่ง, ท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อ่างทอง, ปากบารา, ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่, ทางวิ่งที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ 7,583 ล้านบาท เริ่มสร้างปลายปี 2559-2562

และมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างเปิดขายแบบและจะเปิดขายแบบ แต่ถูกชะลอออกไปรอจนกว่า คสช.จะประกาศโรดแมปอย่างเป็นทางการ ได้แก่ รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ปี 58 คมนาคมได้ไม่ถึง 1 แสน ล.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การหารือกับคมนาคมเมื่อ 16 มิ.ย. ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องแหล่งเงินลงทุน เป็นเพียงการเชิญส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงความพร้อมแต่ละโครงการ ก่อนนำรายละเอียดเสนอฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.19 มิ.ย.นี้ โดยจะจัดสรรงบฯลงทุนในส่วนของคมนาคมไม่ถึง 1 แสนล้านบาท จากงบฯลงทุนในปี 2558 ทั้งสิ้น 4.06 แสนล้านบาท ต้องเลือกจัดลำดับโครงการที่มีความพร้อมจริง ๆ

"ตอนนี้ผู้มีอำนาจอยากให้ใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมาช่วยระดมเงินลงทุน แต่บางโครงการยังทำไม่ได้ โดยเฉพาะรถไฟรางคู่ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เรื่องการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนยาก ต่างจากการสร้างทางด่วน น้ำประปา ไฟฟ้า"

ลั่นใช้เงินกู้เป็นทางเลือกสุดท้าย

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า เรื่องแหล่งเงินลงทุนคงต้องรอความชัดเจนก่อน ขณะที่ในส่วนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่พร้อมจัดตั้งกองทุน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จะสรุปเรื่องให้ สคร.พิจารณาเดือน ส.ค. และน่าจะเริ่มได้ในปีนี้

ขณะที่นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตราสารหนี้ สบน. กล่าวว่า การพิจารณาแหล่งเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น ต้องใช้จากงบประมาณประจำปีก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงพิจารณาช่องทางอื่น โดยทาง คสช.ต้องการให้พิจารณาให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ให้ได้มากที่สุด ส่วนเงินกู้จะพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย

สำหรับโครงการลงทุนส่วนที่เป็นของ บมจ.การบินไทย และ ทอท. หน่วยงานสามารถบริหารจัดการเงินลงทุนเองได้ ไม่ต้องให้ สบน.กู้ และไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ อีกทั้งในระยะข้างหน้า สบน.จะเน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังสูง และช่วยส่งเสริมการออมในประเทศ ส่วนการใช้เงินกู้สัดส่วน 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ต้องมีสัดส่วนที่ใช้เงินตราต่างประเทศ 50%

ขณะเดียวกัน สบน.จะปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 อีกครั้ง โดยปรับลดแผนกู้ เงินของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และปรับเพิ่มบางแห่ง อาทิ ร.ฟ.ท. เดิมมีการกู้เงินจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งต้องมีการกู้เงินบาทสมทบเพิ่มเติม 465 ล้านบาท จึงต้องเสนอเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2557
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 20-06-2557 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.