| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 338 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 09-06-2557    อ่าน 1479
 ปัดฝุ่นโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจปีหน้า

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหยิบเอาโครงการที่อยู่ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท บางโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและประชาชนกลับมาดำเนินการในระยะเร่งด่วนให้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง

โดยเฉพาะการพัฒนาระบบราง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังเป็นการวางอนาคตให้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอีกด้วย

รถไฟฟ้าสายหลักๆ ที่จะต้องเดินหน้าคือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท

รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ที่ตอนนี้อยู่ขั้นตอนประกวดราคาก็จะต้องเสนอขออนุมัติ คสช.ในขั้นตอนต่อไปด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง รวม 767 กิโลเมตรของ ร.ฟ.ท. จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.16 แสนล้านบาท คือ 1.สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร 2.สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร 3.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร 4.สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และ 5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร

นอกจากนี้ คสช.ยังให้ความสำคัญกับอีก 2 เส้นทาง คือ 1.สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทางประมาณ 323 กิโลเมตร เงินลงทุนรวม 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยมาเกือบ 50 ปี และสายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รอคอยมาเกือบ 20 ปี หากดำเนินการได้สำเร็จจะช่วยในเรื่องการขนส่งสินค้า และขนคน เพราะพาดผ่านหลายพื้นที่

โดยสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย มี 26 สถานี ส่วนสายบ้านไผ่-นครพนม มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม รวม 14 สถานี จึงช่วยเปิดโครงข่ายการเดินทางและการค้าการขนส่งกระจายไปในพื้นที่ต่างได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และยังลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพราะจะมีเส้นทางเชื่อมต่อกับทางคู่สายสายอื่น และยังสามารถเชื่อมโยงทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

สำหรับรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ตอนนี้แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจาก คสช.ว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ แต่หลายครั้งก็มีการกล่าวถึงว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะดำเนินการเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าศึกษาและออกแบบโครงการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหาก คสช.ส่งซิกให้ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

ล่าสุดทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ยืนยันแล้วว่า ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว 2 เส้นทาง โดยเส้นทางสายเหนือ กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งระยะแรกจะเริ่มดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 382 กิโลเมตรก่อน อยู่ระหว่างการยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ส่วน เส้นทางสายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ระยะแรกเริ่มดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตรก่อน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบเพื่อจัดทำรายละเอียดสรุปข้อมูลก่อนยื่นอีไอเอ ซึ่งถ้าผ่านแล้ว ก็รอให้ฝ่ายนโยบายอนุมัติเพื่อเปิดประกวดราคา

สำหรับระยะที่ 2 ของสายเหนือ จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ 287 กิโลเมตร ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมยื่นอีไอเอเช่นเดียวกัน สายอีสาน ระยะที่ 2 จากช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร อยู่ระหว่างขอผูกพันงบประมาณประจำปี 2558 เพื่อดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา และระยะที่ 2 สายใต้ จากหัวหิน-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 757 กิโลเมตร จะต้องของบประมาณในปี 2558 เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบเพิ่มเติม

อีกหนึ่งเส้นทาง คือ สายตะวันออก กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม สำรวจและออกแบบรายละเอียดไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2557

นอกจากระบบรางแล้วยังมีโครงการอื่นที่กระทรวงคมนาคมเตรียมจะเสนอให้ คสช.พิจารณา อีกหลายโครงการ เช่น โครงการเร่งรัดขยาย 4 ช่องจราจร โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ของท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ระยะเร่งด่วน) ทางพิเศษ เส้นพระราม 3 การจัดหาเครื่องบิน 38 ลำของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การเร่งรัดขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี

โครงการสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้า 16 แห่ง การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน และการก่อสร้างอู่จอดรถจำนวน 6 แห่งขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น

แม้ทุกโครงการจะใช้เงินลงทุนสูง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้สูงขึ้น เพราะคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าไทยไม่ควรมีการพัฒนาระบบราง หรือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน เพราะเพื่อนบ้านของไทยเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่เช่นกัน การพัฒนาระบบราง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการลงทุนพัฒนาระบบรางจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้าต่อไปได้ คือ การตอบรับจากภาคเอกชน และประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ออกมาตอบรับทันทีหลังจากทราบว่า คสช.จะเดินหน้าบางโครงการที่อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทต่อ เพราะนอกจากจะเป็นการขยายความเจริญออกไปยังต่างจังหวัด สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มีการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้ธุรกิจท้องถิ่นมีการเติบโต สามารถขยายตลาดการส่งออก หรือซื้อขายสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่ทุกคนมุ่งหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสต่อเนื่องได้อย่างมากกมาย

เพราะที่ผ่านมาเพียงแค่ภาครัฐบอกว่าจะลงทุน ก็พบว่าทำให้การลงทุนในต่างจังหวัดคึกคักขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กระจายไปยังหัวเมืองที่จะมีโครงการพาดผ่าน และทั้งหมดล้วนสร้างงาน และอาชีพให้คนในต่างจังหวัดทั้งสิ้น

"ชาติชาย พยุหนาวีชัย" รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นตามความชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหลายเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การนำโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาดำเนินการต่อ ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และยังระบุว่าเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะขยายตัวได้ถึง 2.3-2.4%

จากการหารือล่าสุด ระหว่างกระทรวงการคลังกับฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ระบุว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบราง ด้วยการนำไปบรรจุเพื่อขอจัดสรรงบประมาณ 2558 พร้อมบรรจุในแผนกู้เงิน ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ด้วยทั้งโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟชานเมืองรวม 7 โครงการ วงเงินรวม 6.26 หมื่นล้านบาท

ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเตรียมประกวดราคา คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค จะขอรับการจัดสรรจำนวน 1.94 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 3.94 พันล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 8.9 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดได้ก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว บางโครงการก็เตรียมเปิดให้บริการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ขอจัดสรรจำนวน 6.59 พันล้านบาท โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนประกวดราคา

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ที่ขอจัดสรรจำนวน 2.91 พันล้านบาท รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 1.91 พันล้านบาท และรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 1.89 หมื่นล้านบาท

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบรางที่ คสช.จะไม่ละทิ้ง และต้องการให้พัฒนารุดหน้าต่อไป

...ส่วนจะเป็นจริงได้แค่ไหนยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด!!!
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 09-06-2557 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.