| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 90 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 12-11-2556    อ่าน 1607
 รื้อผังเมือง"อยุธยา"ป้องน้ำท่วมรับไฮสปีดเทรน "ภาชี-ลาดบัวหลวง"ขึ้นชั้นทำเลทอง/จับตา5อ.แก้มลิง

รื้อใหญ่ผังเมืองรวมอยุธยารับเมกะโปรเจ็กต์"มอเตอร์เวย์ ไฮสปีดเทรน ฟลัดเวย์" เขย่าพื้นที่พัฒนาใหม่ อำเภอ "บางบาล-บางไทร-บางปะหัน-เสนา-ผักไห่" แจ็กพอตเป็นพื้นที่รับน้ำ คุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนะให้สร้างบ้านอยู่กับน้ำได้ ใต้ถุนสูง 2.5 เมตร "ภาชี-ลาดบัวหลวง" ส่งเสริมการพัฒนาใหม่ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ผุดถนนวงแหวนรอบนอก 2 ชั้น เชื่อมระหว่าง "อำเภอ โลจิสติกส์ สถานีรถไฟความเร็วสูง"

นายประพนธ์ เอี่ยมสุนทร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ให้สอดรับกับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ผ่านพื้นที่จังหวัด ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ (บางปะอิน-โคราช) คลองผันน้ำบางบาล-บางไทร เนื่องจากร่างผังเมืองรวมฉบับเดิมยังไม่มีการระบุถึงโครงการเหล่านี้ จึงต้องปรับผังเมืองใหม่ทั้งหมดให้สอดรับกันอีกทั้งจะต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย หอพัก ธุรกิจบริการ ร้านค้า เกิดขึ้นมากในพื้นที่ด้านตะวันตก ภายหลังจากมีนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และคาดว่าแนวโน้มจะต้องมีการขยายตัวอีกมาก

"อยุธยา" ผังเมืองต้นแบบ

"อนาคตอยุธยาจะเป็นจุดจอดสถานีรถไฟความเร็วสูง ยังไม่รู้จะอยู่ที่บ้านภาชีหรือสถานีรถไฟเดิม นโยบายของกรมโยธาฯจะให้พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีเป็นเมืองใหม่รองรับการให้บริการ รวมถึงมีโครงการจัดทำมาตรการด้านผังเมืองเพื่อป้องกัน


น้ำท่วมและบรรเทาปัญหาอุทกภัย นโยบายกรมต้องการให้อยุธยาทำเป็นโมเดลต้นแบบ ดังนั้นต้องนำผังเมืองรวมฉบับดังกล่าวมาเป็นกรอบและแนวทางการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ด้วย"

สำหรับมาตรการด้านผังเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม นายประพนธ์กล่าวว่า ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำรายละเอียดเสร็จแล้ว แนวทางการพัฒนาเบื้องต้นจะแยกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองอยุธยา มีอำเภอบางบาล บางปะหัน เสนา กำหนดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) รองรับน้ำท่วม เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี แต่ก็สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ที่ไม่ใช่โครงการบ้านจัดสรร อาจจะเป็นบ้านสร้างเองโดยมีคำแนะนำต้องยกใต้ถุนสูงอย่างน้อย 2.5 เมตร

ส่วนฝั่งตะวันออก เช่น อำเภอภาชี เป็นพื้นที่ดอน จะเปิดพื้นที่รองรับการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งได้มีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว ขณะที่พื้นที่เขตเทศบาลเมืองอยุธยาจะมีโครงการแนวป้องกันน้ำท่วม รองบฯจากโครงการบริหารน้ำสามารถทำให้พัฒนาได้

เพิ่ม "พื้นที่ปิดล้อม"

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำมาตรการด้านผังเมืองเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการตามนโยบายของกรมในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ที่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 สำหรับใช้เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ด้วย

"กรมจะใช้มาตรการผังเมืองในการขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน มีการตั้งถิ่นฐานที่ปลอดภัยด้วยการใช้มาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สัมพันธ์กับผังน้ำและแผนบริหารจัดการอุทกภัยของประเทศ"

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการนำเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มาวิเคราะห์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา เพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสมของแต่ละอำเภอ พื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ ใหม่ ทั้งพื้นที่ที่มีปัญหาและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น บริเวณชุมชนภาชีในอำเภอภาชี พื้นที่บางส่วนของอำเภอลาดบัวหลวง เป็นพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมจะส่งเสริมการพัฒนาใหม่

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มพื้นที่โล่งและกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย โดยก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม นอกจากก่อสร้างคลองผันน้ำบางบาล-บางไทร จะเสนอให้มีการทำพื้นที่ปิดล้อมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญเพิ่มเติม เช่น ชุมชนบางบาล ผักไห่ บางปะหัน มหาราช และศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ เป็นต้น รวมถึงเสนอให้ปรับปรุงสภาพแม่น้ำลำคลองโดยขุดลอกอย่างสม่ำเสมอ และเสนอให้กักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ฝั่งตะวันตก-พื้นที่แก้มลิง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ด้านตะวันตกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ให้ชุมชนมีการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับน้ำได้ เช่น กำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต ให้เน้นการรักษาพื้นที่หน่วงน้ำหรือแก้มลิง และพื้นที่รับน้ำเพื่อเป็นพื้นที่ชะลอน้ำ และผันน้ำลงสู่แม่น้ำและทะเลโดยเร็ว

รวมถึงให้ทำแผนผังที่โล่งป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย แสดงไว้ภายในผังให้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เพื่อควบคุมการตั้งถิ่นฐานและกิจกรรมการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม อีกทั้งจะต้องมีข้อกำหนดที่สำคัญเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น กำหนด FAR และ OSR ในการพัฒนา กำหนดระยะถอยร่นจากริมฝั่งแม่น้ำ กำหนดรูปแบบอาคาร ควบคุมความสูง รูปแบบรั้ว สำหรับอาคารที่มีการป้องกันน้ำท่วมและอนุญาตให้ตั้งได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการจัดผังโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง ได้แก่ ก่อสร้างถนนเพิ่มเชื่อมโยงระหว่างแต่ละอำเภอ เพื่อระบายการจราจรจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย และกระจายปริมาณจราจรในย่านนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงจะสร้างถนนวงแหวนรอบนอกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นในสำหรับการจราจร และชั้นนอกสำหรับรถขนาดใหญ่


รวมทั้งจะเสริมระบบโครงข่ายและปรับปรุงถนนด้านตะวันออก ให้ทำหน้าที่เป็นถนนวงแหวนเชื่อมต่อโครงข่ายไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงหากสถานีอยู่ที่บ้านภาชี เพื่อส่งเสริมเป็นศูนย์โลจิสติกส์ และเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง ทั้งทางน้ำ รถไฟ และทางถนน
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 12-11-2556 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.