| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 67 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 26-08-2556    อ่าน 1582
 อินฟราสตรักเจอร์ "หัวหิน" ชอร์ตหนัก โหมลงทุนระบบ "ประปา-คมนาคม" รับมือ

จากการขยายตัวของ "เมืองหัวหิน" ที่มีที่อยู่อาศัยและการพัฒนาใหม่ ๆ เกิดขึ้นรายวัน ทำให้พื้นที่เขตเมือง ที่มีไซซ์ 87 ตร.กม. ปัจจุบันเนืองแน่นไปด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างที่โตพรวดพราดขึ้นทุกปี

โดยเฉพาะคลื่นลงทุนจากส่วนกลางอย่างดีเวลอปเปอร์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ความนิยมเข้ามาถมการลงทุนโครงการคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายเล็ก-รายใหญ่กระจายอยู่ทุกซอกมุมเต็มพื้นที่ของเมือง จนล้นทะลักออกนอกเขตขยายมายังโซนตะวันตกฝั่งพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขา

เร่งจัดระเบียบเมืองใหม่

ทำให้ "กรมโยธาธิการและผังเมือง" ต้องเร่งคลอด "ผังเมืองรวมเมืองหัวหิน" ออกมาให้เร็วที่สุด อย่างน้อยปลายปี 2556 นี้ หลังจากปล่อยให้ผังเมืองรวมขาดอายุไปร่วม 10 ปีนับจากปี 2547 พร้อมกับขยายเขตผังเมืองรวมเมืองหัวหินไปถึง "ต.หินเหล็กไฟ" เพิ่มอีก 97 ตร.กม.รองรับการขยายตัวของเมืองโดยตรงอีกทั้งจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเข้าไปในผังเมืองรวมเมืองหัวหินฉบับใหม่ ให้มีการครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



เนื่องจากทุกวันนี้ "เมืองหัวหิน" กำลังเผชิญวิกฤตระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมโตไม่ทันกับความเจริญของเมือง ทำให้บางครั้งคนหัวหินต้องประสบกับปัญหาน้ำขุ่นเมื่อเกิดช่วงแล้งจัด วิกฤตหนักข้อถึงขนาดทำให้นักลงทุนท้องถิ่นและส่วนกลางบางรายต้องลงทุนสร้างระบบน้ำประปาขึ้นมาใช้เอง เพื่อเป็นการแก้ปัญหา

"ต้องจัดระเบียบผังเมืองหัวหินใหม่ เพราะวันนี้หัวหินโตเร็วมาก โตแบบไร้ทิศทางทำให้มีปัญหาน้ำไม่พอกินพอใช้ เกิดน้ำเสีย รถติดเพราะคนมาเที่ยวเยอะ ในผังเมืองใหม่จะใส่เรื่องพวกนี้เข้าไปเพื่อให้ท้องถิ่นใช้เป็นทิศทางพัฒนาเมืองต่อไป เพราะหัวหินจะต้องรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และถึงยังไงหัวหินก็ยังมีเสน่ห์อยู่" คำกล่าวของ "มณฑล สุดประเสริฐ" อธิบดีกรมโยธาฯที่ฝากไว้กับ "ประชาชาติธุรกิจ"

ทุ่ม 900 ล้านแก้น้ำแล้ง

ขณะที่นายกเล็ก "นพพร วุฒิกุล" นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ยอมรับว่า เรื่องรถติดและการขาดแคลนน้ำประปาเป็นปัญหาของหัวหินมานานหลายปี แนวโน้มกำลังเริ่มวิกฤตมากขึ้นหากยังไม่ดำเนินการแก้ไข เนื่องจากต่อไปเมืองหัวหินจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกหลายโครงการ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งสถานีหัวหินจะกลายเป็นจุดพักของคนที่จะเดินทางสู่ภาคใต้ ทางเทศบาลจะต้องเตรียมระบบสาธารณูปโภคให้พร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองที่จะตามมาในอนาคต

ล่าสุดอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลวงเงิน 988.65 ล้านบาท เพื่อลงทุนวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนปราณบุรีมายังบ่อพักน้ำระยะทาง 20 กม. เพื่อผลิตน้ำประปา เดิมเคยเสนอมาแล้วในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

เป้าหมายโครงการ "นายกนพพร" บอกว่า หากได้รับจัดสรรเงินจะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี (2557-2559) เนื้องานประกอบด้วย 1.สร้างอาคารสูบน้ำดิบที่เขาแล้ง 1 หลัง, หัวนา 1 หลัง วงเงิน 173.23 ล้านบาท

2.วางท่อส่งน้ำดิบ 734.66 ล้านบาท มี 3 เส้นทาง คือ จากอ่างเก็บน้ำปราณบุรีถึงโรงผลิตน้ำหัวนาและแยกเข้าบ่อพักน้ำเขาแล้ง, จากโรงผลิตน้ำหัวนาถึงอ่างเก็บน้ำดำเนินเกษม+ที่พักน้ำบ่อฝ้าย และจากโรงผลิตน้ำบ่อฝ้าย-ท่อจ่ายน้ำเดิม

3.ก่อสร้างโรงผลิตน้ำบ่อฝ้ายขนาด 250 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง พร้อมสระเก็บน้ำขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตร วงเงิน 80.76 ล้านบาท

เอกชนสบช่องผลิตน้ำขาย

ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวของเอกชนบางกลุ่ม เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาเพื่อขายให้คนหัวหิน

"ตอนนี้มีเอกชนมาสร้างโรงผลิตน้ำประปาอยู่นอกเขตเทศบาลเมือง บริเวณหลังเขาใกล้ ๆ กับการประปาภูมิภาคลงทุน 400-500 ล้านบาท กำลังก่อสร้างจะเสร็จเร็ว ๆ นี้ มีกำลังการผลิตชั่วโมงละ

700-800 คิว สามารถผลิตน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง กำลังขออนุญาตประปาภูมิภาคขายน้ำประปาให้กับเทศบาล ราคาคิวละ 6-8 บาท สูงกว่าที่เทศบาลขายในราคาคิวละ 3.50 บาท"

ผุดถนนใหม่-โมโนเรลแก้จราจร

สำหรับแก้ปัญหาการจราจร "นายกนพพร"กล่าวว่า เทศบาลเมืองหัวหินมีแนวคิดจะก่อสร้างโมโนเรลหรือรถไฟฟ้าขนาดเบาบริเวณเกาะกลางถนนเพชรเกษม นับจากช่วงในเมืองไปถึงเขาตะเกียบ เบื้องต้นอาจสิ้นสุดที่ช่วงตลาดซิคาด้าระยะทาง 7-8 กม.

"เร็ว ๆ นี้ผมจะทำเรื่องเสนอผ่านกรมโยธาฯให้เป็นผู้ศึกษาและออกแบบ ส่วนการก่อสร้างจะเป็นรูปแบบไหนอยู่ที่ผลการศึกษาโครงการ"

รวมถึงมีแนวคิดตัดถนนใหม่ขนาด 4-6 ช่องจราจรเพื่อใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมือง แนวเส้นทางจะสร้างอยู่ระหว่างกลางของแนวเส้นทางรถไฟกับถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ระยะทาง 15-16 กม. เริ่มต้นจากบริเวณสนามบินบ่อฝ้ายมาถึงซอยหัวหิน 112

"ถนนตัดใหม่และโมโนเรลทางกรมโยธาฯเห็นด้วยแล้ว จะต้องเร่งทำโดยเร็วเพราะตอนนี้ตัวเมืองหัวหินในช่วงวันหยุดมีปัญหารถติดมาก จำเป็นต้องมีถนนสายหลักเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเดินทาง เรากำลังจะสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนนเพชรเกษมขึ้นมาอีกจุดบริเวณตัวเมืองหัวหิน รวมทั้งในอนาคตอาจจะต้องเก็บค่าจอดรถริมถนนและสร้างอาคารจอดรถขึ้นมา" คำกล่าวย้ำ

ทางหลวงเร่ง "ซ่อม-สร้าง"

ด้าน "ปฏิเวชวุฒิศักย์ สุขขี" ผู้อำนวยการแขวงการทางประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) กล่าวว่า ขณะนี้กรมทางหลวงในพื้นที่อยู่ระหว่างซ่อมบูรณะถนนสายหลักให้มีความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้ทางมากขึ้น โครงการที่กำลังจะเริ่มดำเนินการคือขยายถนนเพชรเกษมพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ช่วงหัวนา-ปราณบุรี หรือจากสะพานข้ามทางรถไฟหัวนา-โรงเรียนภัทราวดี ระยะทาง 1 กม. วงเงินกว่า 30 ล้านบาท

"รูปแบบคือจะขยายถนนเดิมให้เป็น 4-6 ช่องจราจร โดยจะขยายบริเวณทางคู่ขนานให้เป็นข้างละ 2 ช่องจราจรให้รถสามารถวิ่งสวนกันได้ เพื่อรองรับการจราจรช่วงเขาตะเกียบ และหัวนา-ทับใต้ และเมืองที่เริ่มขยายมาทางนี้มากขึ้น"

ในปี 2557 นี้กรมได้งบประมาณอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการฉาบผิวถนนเพชรเกษม ตั้งแต่ช่วงอุโมงค์-ต.หนองแก บริเวณหัวหิน ซอย 102 จะต่อเนื่องจากช่วงหนองแก-หัวนาที่กำลังดำเนินการ รวมถึงปรับปรุงความปลอดภัย ไฟฟ้า แสงสว่างบนถนนสายหลัก และมีหลายโครงการที่อยู่ในงบฯลงทุน 2 ล้านล้านบาท อาทิ การปรับปรุงถนนเพชรเกษมจากปราณบุรี-ชุมพร

ตัดมอเตอร์เวย์ "นครปฐม-ชะอำ"

ในส่วนของงบฯลงทุนจากกรมทางหลวงส่วนกลาง ที่จะเสริมระบบโครงข่ายการเดินทางเมืองหัวหินให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

"สุรชัย ศรีเลณวัฒิ" ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นทางการคมนาคมทางถนนจากกรุงเทพฯไปยัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 250 กม. สามารถเดินทาง 2 ถนนหลัก คือ "พระราม 2-เพชรเกษม" ซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ยสูงถึง 140,000 และ 33,000 คัน/วัน ตามลำดับ ทำให้การคมนาคมมีความล่าช้าติดขัด

กรมจึงพิจารณาจัดทำแผนงานบูรณะทางหลวงทั้ง 2 สาย วงเงินรวม 6,770 ล้านบาท แยกเป็นสายพระราม 2 จากกรุงเทพฯ-จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 75 กม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท และถนนเพชรเกษม จาก จ.นครปฐม-อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 290 กิโลเมตร วงเงิน 5,170 ล้านบาท

"ทั้งหมดบรรจุอยู่ในแผนลงทุนภายใต้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทแล้ว"

นอกจากนี้ กรมได้ศึกษาก่อสร้างถนนสายใหม่เพื่อเป็น "ทางหลวงสายสำรอง" ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนเพชรเกษมในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ คือถนนเชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 (หนองหญ้าปล้อง) ระยะทาง 35 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้

ขณะเดียวกัน ในปี 2557 กรมได้รับงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำระยะทาง 120 กม. และศึกษาโครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ระยะทาง 50 กม. วงเงิน 105 ล้านบาท

ทั้งหมดจะเป็นโครงข่ายเสริมการเดินทางไปยังภาคใต้และหัวหินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับงบประมาณจากรัฐบาลจะอุดหนุนให้ด้วยเช่นกันว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 26-08-2556 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.