| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 188 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 27-12-2555    อ่าน 1986
 สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านปี 55 และแนวโน้มปี 56 THCA ฟันธง "ต่างจังหวัด"แนวโน้มโตฉลุย

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Construction Association: THCA) เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2555 พบว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัจจัยลบหลายประการ โดยมีเหตุเริ่มต้นมาตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดปี 2555 อาทิเช่น ปัญหาผู้ผลิตจัดส่งวัสดุล่าช้าอันเนื่องจากโรงงานปิดซ่อมแซมเพราะโดนน้ำท่วม ปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 5-15 รวมถึงปัญหากำลังซื้อชะลอตัวอันเนื่องมาจากผู้บริโภคกังวลว่าน้ำจะท่วมซ้ำอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม และปัญหาที่สำคัญคือการก่อสร้างบ้านล่าช้าเหตุเพราะแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง

แม้ว่าผู้ประกอบการในภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ต้องประสบกับปัญหาและปัจจัยลบต่างๆ รอบด้าน แต่ในปี 2555 ที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปรับตัวเอง จากอดีตที่เน้นทำตลาดและแข่งขันกันอยู่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยในปี 2555 นี้ได้หันมาทำตลาดและขยายพื้นที่ให้บริการออกไปในต่างจังหวัดอย่างจริงจังมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต่างก็เน้นเปิดสำนักงานและมุ่งทำตลาดในต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองหลักๆ ตามภูมิภาคต่างๆ



ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวสะท้อนได้ว่า 1) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการให้บริการของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านได้ง่ายขึ้น 2) ปริมาณและมูลค่าของตลาดรับสร้างบ้านมีการเติบโตตามพื้นที่ให้บริการ 3) ปัจจุบันและในอนาคตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอีกต่อไป

โดยสมาคมฯ ได้มีการรวบรวมตัวเลขยอดขายหรือยอดสั่งสร้างบ้าน เฉพาะในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ และมีสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสำนักงานจำนวน 34 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 69 จังหวัด พบว่า สัดส่วนมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน ยังคงมีสัดส่วนยอดสั่งบ้านเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 32 อันดับถัดมาคือภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 25 อันดับ 3, 4 และ 5 ได้แก่พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล, ภาคใต้ และภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 17, 16 และ 10 ตามลำดับ

การแข่งขัน

ภาพการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2555 นี้ โดยรวมถือว่ามีความแตกต่างจากปีก่อนๆ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยปัจจัยลบที่รุมเร้าตลอดปี โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันชิงยอดขายหรือลูกค้าเหมือนเดิม หากแต่เป็นการแข่งขันกันชิงแรงงานหรือช่างแทน ทั้งนี้เพราะสภาพปัญหาแรงงานขาดแคลน มิใช่เกิดเฉพาะภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่รวมถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางการตลาดยังคงมีให้เห็นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำตลาด 2-3 ราย เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ว่า ปีก่อนๆ จะเน้นแข่งขันทำการตลาด ลด แจก แถม แต่มาปี 2555 ต่างหันมาเน้นสร้างการรับรู้ผ่านตราสินค้าและแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านมีการใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในปี 2555 ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ามีการใช้สื่อต่างๆ ที่เป็นแมสและสื่อเฉพาะกลุ่มมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เช่น ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม ป้ายโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ สำหรับปี 2556 คาดว่างบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 25-30

แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านปี 56

สำหรับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่าการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านจะขยายออกไปยังต่างจังหวัดเช่นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็ด้วยว่าปริมาณบ้านสร้างเองในต่างจังหวัดนั้นมีสัดส่วนที่มากกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่แล้ว กอปรกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านในปัจจุบันและอนาคต มีแนวโน้มการลงทุนในตลาดต่างหวัดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้สะดวกและมีทางเลือกมากขึ้น จึงหันมาใช้บริการแทนผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ก็เพราะผู้บริโภคเลิกกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำแล้ว โดยสามารถพิจารณาได้จากความต้องการสร้างบ้าน หรือกำลังซื้อที่กลับมาใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2555 เพียงแต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระวังก็คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจจะฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะไม่มั่นใจว่าจะก่อสร้างบ้านได้แล้วเสร็จตามสัญญาหรือไม่ และอาจหันไปเลือกคู่แข่งในธุรกิจใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่

สำหรับ ปัจจัยหลักๆ ที่คาดว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันปี 2556 น่าจะเป็นเรื่องของ 1)นวัตกรรมก่อสร้างและระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูป 2)การรับรู้และความน่าเชื่อถือในฐานะแบรนด์ผู้นำ 3)พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปัจจัยที่กล่าวนี้ ถือเป็นความได้เปรียบของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายผู้นำ ดังนั้นรายเล็กรายกลางจึงควรเร่งปรับตัวเอง และเลี่ยงที่จะแข่งขันในแนวทางที่เสียเปรียบรายใหญ่

สรุปภาพรวม

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวด้วยว่า ในปี 2556 แนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวและเติบโตออกไปยังภูมิภาคชัดเจนมากขึ้น เพราะจากการสำรวจผู้ประกอบทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเปิดดำเนินธุรกิจในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ หรือมีจำนวนมากกว่า 40 ราย ตรงข้ามกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีผู้ประกอบการรายใหม่เปิดดำเนินธุรกิจน้อยมาก และจากการสำรวจของสมาคมฯ พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านทั่วประเทศในปี 2555 มีจำนวนประมาณ 144 ราย (ที่มีรูปแบบชัดเจนและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง) โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนประมาณ 69 ราย และผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนประมาณ 75 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 2 สมาคมเพียงแค่ 71 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ได้สังกัดสมาคมใดๆ

ปัญหาแรงงานขาดแคลน คาดว่ายังคงมีการแข่งขันแย่งชิงกันรุนแรงเช่นเดิม ทั้งนี้ สมาคมฯ แนะว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ ควรจะต้องมีแผนรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีก่อสร้าง หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องมือก่อสร้างที่จะทดแทนการใช้แรงงานคนและทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2555 ที่น่าสนใจพบว่า กลุ่มลูกค้าทีใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศนั้น มีการขอใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านกับสถาบันการเงินในสัดส่วนเงินสด : เงินกู้ หรือ 67 : 33 โดยมีธนาคารที่ผู้บริโภคนิยมขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน ได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธอส. ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัด หันมานิยมใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้น สถาบันการเงินและบริษัทรับสร้างบ้านจึงควรร่วมมือกัน เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดขยายตัว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่มี “จุดขาย” แตกต่างกับคู่แข่งขันในตลาด เช่น บ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบก่อสร้างที่สามารถสร้างได้รวดเร็วและมีคุณภาพ ฯลฯ จะสามารถช่วยให้มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน สำหรับตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปี 2555 มีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะเติบโตและมีมูลค่ารวมประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตได้ประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมฯ เองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท



อนึ่ง "ตลาดบ้านสร้างเอง" ได้แก่ บ้านที่ประชาชนสร้างบนที่ดินของตัวเอง (ไม่ได้สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) โดยอาจว่าจ้างสถาปนิกออกแบบก่อน หรือซื้อแบบบ้านสำเร็จรูป หรือขอแบบบ้านฟรีจากส่วนราชการ จากนั้นจึงว่าจ้างช่างหรือผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป อาจเป็นการจ้างเหมาทั้งวัสดุและค่าแรง หรือจัดซื้อวัสดุเองแล้วว่าจ้างเฉพาะค่าแรง รวมทั้งใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านให้เป็นผู้ทำการก่อสร้าง

"ตลาดรับสร้างบ้าน" ได้แก่ บ้านที่ประชาชนสร้างบนที่ดินของตัวเอง (ไม่ได้สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) โดยว่าจ้างหรือใช้บริการเฉพาะกับบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบและแข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านเท่านั้น
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 27-12-2555 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.