| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 104 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 05-11-2554    อ่าน 11037
 เปิดอาณาจักรบางบัวทอง 140 ไร่ "เอสบี เฟอร์นิเจอร์" งัดกลยุทธ์ "น้ำสู้น้ำ" กู้เครื่องจักร-ฟื้นการผลิต

มีชื่อขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ประสบภัยน้ำท่วม สำหรับ "เอสบี เฟอร์นิเจอร์" แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำ ที่เพิ่งจะเปิดตัวศูนย์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของ ตกแต่งแบรนด์ "เอสบี ดีไซน์สแควร์" สาขาใหม่ ย่านบางนาไปหมาด ๆ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมาเจอบททดสอบครั้งสำคัญเมื่อโรงงานทั้ง 3 แห่งในอำเภอบางบัวทอง ปากเกร็ด และแห่งล่าสุดที่ไทรน้อย ล้วนถูกน้ำท่วม

โดยระดับน้ำภายในโรงงานเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีตั้งแต่ระดับ ปริ่ม ๆ ไปจนถึง 80 เซนติเมตร ส่วนน้ำด้านนอกโรงงานอยู่ที่ประมาณ 1.20 เมตร และยังทรง ๆ ตัว

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้สั่นคลอนขวัญและกำลังใจของคนในองค์กร "เอสบี เฟอร์นิเจอร์" และ "คุณเล็ก-พิเดช ชวาลดิฐ" ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต "เอสบี เฟอร์นิเจอร์ อินดัสทรี" ผู้บริหารหนุ่มดีกรีวิศวะอุตสาหการจากรั้วจุฬาฯ ที่อยู่ร่วมสู้กับพนักงานช่วงน้ำท่วม และมั่นใจว่าจะสามารถกู้โรงงานจากน้ำท่วมให้เครื่องจักรและพื้นที่โรงงานบางส่วนอยู่ในสภาพพร้อมผลิตสินค้าได้อีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ แม้ว่าระดับน้ำนอกโรงงานจะยังไม่ลดลงก็ตาม

นาทีนี้ "เอสบี" จึงเป็นกรณีศึกษาที่ล้ำค่า ว่าระหว่างทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเข้าโรงงาน เอสบีได้เรียนรู้กลวิธีการป้องกันน้ำจากปัญหาเฉพาะหน้าที่เจอได้อย่างไรบ้าง

"ยกของขึ้นสูง" สิ่งแรกที่ต้องทำ

"โรงงานตั้งมา 30 ปี ปกติแค่ฝนตกหนักสัก 1 ชั่วโมงน้ำก็เอ่อล้น 30 เซนติเมตรอยู่แล้ว ผมยกโรงงานสูงขึ้นทุกปี เมื่อปลายปีก่อนยกสูงอีก 50 เซนฯ ตอนนั้นมีคนทักเหมือนกันว่าโอเวอร์ไปไหม ผมเองยังตอบเลยว่า ถ้าทำขนาดนี้แล้วน้ำท่วมก็ต้องมีปาฏิหาริย์เท่านั้น แต่สุดท้ายตอนนี้ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วครับ" คำกล่าวเปิดประเด็นแบบกลั้วหัวเราะของ "คุณเล็ก"

จากการถ่ายทอดประสบการณ์สู้น้ำท่วมที่โรงงานบางบัวทอง อาณาจักรโรงงานใหญ่ที่สุดของเอสบีบนเนื้อที่ถึง 140 ไร่ การต่อสู้กับน้ำท่วมคราวนี้ได้สร้างเขื่อนดินล้อมรอบสูง 1 เมตร ก่ออิฐบล็อก 20,000-30,000 ก้อน ใช้ปั๊มสูบน้ำเพิ่มจาก 10 ตัว เป็น 30 ตัว กระสอบทรายประมาณ 1 แสนใบกั้นรอบรั้วโรงงาน แต่สุดท้ายน้ำที่มีแรงดันมหาศาลก็ผ่านเข้ามาในพื้นที่การผลิตในนาทีแรกของวันใหม่เมื่อ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา

หลังจากป้องกันน้ำมาได้ 6-7 วัน แม้แต่อิฐบล็อกที่ก่อไว้ก็ยังทะลุ ถังบรรจุกาวขนาด 200 ลิตรก็ยังลอยตามน้ำ !

การรับมือกับน้ำท่วมอันดับแรกใน มุมมองของเอสบีจึงฟันธงว่า ต้องท่องคาถาเดียวเท่านั้นคือ "ยกของขึ้นสูง" เพราะถ้าน้ำทะลุผ่านแนวป้องกันเข้ามาก็ยังช่วยลดความเสียหายได้

กรณีของเอสบี ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา 8 วันก่อนที่น้ำจะทะลักเข้ามาในโรงงานก็ลงมือยกเครื่องจักรส่วนใหญ่ขึ้นสูง 40 เซนติเมตร

เคล็ดลับ "น้ำสู้น้ำ" ช่วยลดแรงดัน

จากประสบการณ์ต่อสู้กับน้ำท่วมในโรงงาน เอสบีพบว่าในภาวะที่น้ำยังท่วมอยู่ด้านนอกโรงงานอยู่ถึง 1.20 เมตร การลดระดับน้ำภายในโรงงานเพื่อกู้เครื่องจักรจำเป็นต้องให้มีน้ำท่วมอยู่ภายในบ้าง เพื่อช่วยลด "แรงดันน้ำ" ด้านนอกที่พร้อมจะทะลักเข้ามาได้ทุกเมื่อ

ส่วนการสูบน้ำออกเพื่อลดระดับน้ำให้ต่ำพอที่จะกลับมาเดินเครื่องจักรได้ เอสบีตกผลึกแนวทางมาเป็น 2 วิธีคือ 1) การกู้เครื่องจักร และ 2) การกู้ตัวโรงงาน

สำหรับเครื่องจักรใช้วิธีก่ออิฐบล็อกล้อมตัวแท่นเครื่องจักรแล้วสูบน้ำภายในออก ส่วนตัวโรงงานใช้วิธีก่ออิฐบล็อกล้อมรอบเป็นวงทีละชั้น รวมทั้งหมด 3 ชั้น โดยก่อชั้นแรกแล้วสูบน้ำออก จากนั้นหุ้มบล็อกด้วยพลาสติก จากนั้นก่ออิฐชั้นที่ 2 สูบน้ำออกแล้วหุ้มพลาสติก ก่ออิฐวงที่ 3 เป็นแนวป้องกัน 3 ชั้น

แต่การสูบน้ำออกควรจะเหลือน้ำไว้ภายในบ้างตามหลักการ...ใช้น้ำสู้น้ำ ไม่เช่นนั้นบล็อกที่ก่อไว้อาจถูกน้ำดันจนทะลุได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะดูดน้ำจนแห้ง วิธีการนี้ทำให้เอสบีสามารถกู้เครื่องจักรกลับคืนมาได้แล้ว 2 ไลน์การผลิต จากทั้งหมด 6 ไลน์การผลิต (3 โรงงาน) ที่น้ำท่วมเข้าภายในพื้นที่ผลิต

เท่านั้นยังไม่พอ โนว์ฮาวต่อมาคือจะต้องป้องกันน้ำท่วมขังไม่ให้พัฒนากลายเป็น "น้ำเน่า" โดยให้ปั๊มน้ำ 30 ตัวทำงานคอยสูบน้ำขึ้นลงตลอดเวลา และเติมสารจุลินทรีย์เข้าไป

ส่วนพนักงานที่เข้าไปกู้โรงงานภายใน มีตึก 3 ชั้นให้นอนในโรงงาน มีห้องน้ำใช้งานได้อยู่ มีไฟฟ้า ประปา เพราะระบบคอนโทรลไฟสามารถป้องกันได้ไว้ทั้งหมด มีการประสานงานให้การไฟฟ้าฯมายกมิเตอร์ไฟให้สูงพ้นระดับน้ำอีก 1 เมตร และเตรียม "เรือยนต์ฉุกเฉิน" ไว้สแตนด์บายหากมีคนบาดเจ็บ

เลือกป้องกันน้ำ "เฉพาะพื้นที่"

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่เอสบีจะทำคือ เลือกที่จะป้องกันน้ำเข้าตัวอาคารผลิตเป็นตึก ๆ แทนที่จะป้องกันน้ำเข้าตัวภายในพื้นที่โรงงานทั้งหมด เพราะการป้องกันเนื้อที่โรงงาน 140 ไร่ บล็อกอย่างไรก็ไม่อยู่ ต้องมีจุดรั่ว !

ตัวอย่างมีให้เห็นจากโรงงานในละแวกใกล้เคียง มีที่สามารถป้องกันน้ำได้เพราะมีเนื้อที่โรงงานไม่ใหญ่มาก ประมาณ 3-4 ไร่ หลักการเดียวกันคือเลือกป้องกันน้ำเฉพาะพื้นที่ แต่ภายในโรงงานบางส่วนต้องยอมเสียพื้นที่ให้ ท่วมบ้าง และสิ่งสำคัญในระหว่างต่อสู้กับน้ำท่วมคือ เจ้าของต้องอยู่ในสถานการณ์ด้วย เพราะการแก้ปัญหาบางอย่างเกินการตัดสินใจของพนักงานระดับผู้จัดการ

"อย่างการสั่งซื้อปั๊มสูบน้ำจาก 10 ตัว เป็น 30 ตัวภายในสัปดาห์เดียว สั่งรถดัมพ์มาลงทรายตอนเที่ยงคืน เงินสดต้องพร้อมจ่ายทันที และให้ถ่ายรูปภาพ "ก่อน" และ "หลัง" น้ำท่วมไว้ให้มากที่สุด เพื่อประกอบการเคลมประกันภัย" ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเอสบีระบุ

วางแผนรับมือระยะยาว

ก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำท่วมครั้งนี้ เอสบีได้ตั้งทีมป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อวางแผนการป้องกันน้ำท่วมขังในโรงงาน การวางแผนอพยพกรณีน้ำท่วม ศึกษาทางเดินน้ำ จึงพอผ่อนหนักให้เบาลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากปัญหาน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เอสบีได้วางแผนรับมือ น้ำท่วมระยะยาว 2 แผนหลักด้วยกันคือ 1) การปรับระดับยกพื้นที่โรงงานให้ สูงขึ้น และ 2) การขุดคูน้ำรอบรั้วภายในโรงงาน ซึ่งแต่เดิมตั้งใจจะปรับระดับที่ดินให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 20 เซนติเมตร แต่หลังจากนั้นคงจะปรับขึ้นเป็น 50 เซนติเมตร

ส่วนการขุดคูน้ำรอบรั้วในโรงงาน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ประโยชน์มี 2 ส่วนคือ 1) ช่วยกักเก็บน้ำไว้ และ 2) ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยลดแรงดันน้ำภายในกรณีน้ำท่วม ตามหลัก "น้ำสู้น้ำ"

แนะเร่งระบายน้ำลงทะเล

จากบทเรียนน้ำท่วมคราวนี้ เอสบีมีข้อเสนอถึงรัฐบาลว่าควรเร่งระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด อาจจะต้องยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯเฉลี่ย 40-50 เซนติเมตร แล้วปล่อยให้ไหลลงทะเลให้เร็วที่สุด แต่ถ้าบล็อกน้ำไว้ไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพฯ ระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะท่วมสูงถึง 1-2 เมตร และแทนที่จะท่วมขัง 3-4 สัปดาห์ ก็จะกลายเป็น 2 เดือน

อนาคตจึงฝากถึงรัฐบาลต้องพัฒนาระบบระบายน้ำลงทะเลให้ดีขึ้น และทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด
  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ  ] วันที่ 05-11-2554 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.