| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 167 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 23-08-2550    อ่าน 11778
 กทม.ระดมสมอง วาดอนาคต กรุงเทพฯเมืองสวรรค์

กรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่ 1,568.767 ตร.ก.ม. หรือประมาณ 9.8 แสนไร่ เขตการปกครองปัจจุบันแบ่งออกเป็น 50 เขต มีจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน เปรียบเทียบกับเมืองหลวงอื่นๆ ในโลกถือว่ามีความหนาแน่นของจำนวนประชากรสูงอีกแห่งหนึ่ง จึงเป็นปัญหาและความท้าทายว่ากรุงเทพฯจะเป็นเมืองสวรรค์ได้อย่างไร เวทีสัมมนา "กรุงเทพฯเมืองสวรรค์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมติชนแฟร์ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชวนกันหาคำตอบจากวิทยากรรับเชิญ ประกอบด้วย

ตัวแทนจาก กทม. (กรุงเทพมหานคร) "นิคม ไวยรัชพาณิช" ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม "สมศักดิ์ เศรษฐนันท์" รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง "อรวิทย์ เหมะจุฑา" ผู้อำนวยการกองขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง และนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "รศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย" คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เจ้าของนามปากกา "ปริญญา ตรีน้อยใส" คอลัมนิสต์ ประจำมติชนสุดสัปดาห์ โดยมี "สมถวิล ลีลาสุวัฒน์" ผู้ช่วยบรรณาธิการ น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ

"จราจร" ปัญหาอันดับ 1 เมืองหลวง

กรุงเทพฯจะเป็นเมืองสวรรค์ในมุมมองของ "นิคม ไวยรัชพาณิช" ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เปิดข้อมูลจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรที่จดทะเบียนเป็น "คนกรุงเทพฯ" อย่างเป็นทางการจำนวน 5.7 ล้านคน ที่เหลือเป็น ตัวเลขประชากรแฝง

ผอ.นิคมขมวดปมผลการสำรวจความคิดเห็นประชากรเกี่ยวกับความต้องการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานคร พบว่า อันดับ 1 คือปัญหาการจราจร สถิติที่มีอยู่คือมีการเดินทางวันละ 17 ล้านเที่ยว แบ่งเป็นเดินทางโดยรถส่วนบุคคล 50% เดินทางโดยขนส่งสาธารณะ 50% (รถโดยสารประจำทาง 35% เรือโดยสาร 6% รถไฟชานเมือง 5.5% รถไฟลอยฟ้า หรือ BTS 2.5% รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT 1%) โครงข่ายถนนมีอยู่กว่า 1,000 สายแต่ก็ยังไม่พอ ระบบรถไฟฟ้าก็มีเพียง 42 ก.ม.เท่านั้น

ปัญหาอันดับ 2 คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาอันดับ 3 เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางเสียง อากาศ ฝุ่น พื้นที่สีเขียว สวนหย่อมและสวนสาธารณะ มีผลการจัดเรตติ้งมหานคร "เมืองน่าอยู่" ในโลก ตัวเลขล่าสุดพบว่ากรุงเทพฯหล่นอันดับไปอยู่ที่อันดับ 105 ของโลก

นำไปสู่วิสัยทัศน์ของ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ผู้ว่าราชการ กทม. ในการพัฒนาให้กรุงเทพฯเป็น "เมืองน่าอยู่" หรือกรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ โดยบรรจุเป็นวิสัยทัศน์ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 5 ด้าน คือ 1.กรุงเทพฯจะต้องเป็นมหานครที่มีความน่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดี 2.มหานครที่มีระบบคมนาคมขนส่งคล่องตัวและสะดวกสบาย 3.มหานครที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม 4.มหานครที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจวิทยาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 5.มหานคร ที่เป็นศูนย์กลางการบริหาร

ผังเมืองรวมเพื่อคนกรุงเทพฯ

"สมศักดิ์ เศรษฐนันท์" ผู้บริหารจากสำนักผังเมือง พลิกปูมการตั้งถิ่นฐานกว่าจะมาเป็นเมืองหลวงในทุกวันนี้ กรุงเทพฯซึ่งมีอายุกว่า 200 ปีเริ่มต้นจากจำนวนประชากรเรือนหมื่น-แสนคนเท่านั้น จวบจนกว่า 100 ปีประมาณปี พ.ศ.2443 จำนวนประชากรเฉียดหลักล้านคนอยู่ที่ 7-8 แสนคน หลังจากนั้นพบว่าทุกช่วง 30 ปีจะมีนัยของการเพิ่มจำนวนประชากรในเขตเมืองหลวง

ดังจะเห็นได้จากปี 2529 พื้นที่พัฒนาเมืองขยับเป็น 336.5 ตร.ก.ม. ปี 2538 เพิ่มเป็น 585.3 ตร.ก.ม. ปี 2543 พื้นที่พัฒนาเมืองเพิ่มเป็น 677.8 ตร.ก.ม. และแน่นอนว่าปี 2550 พื้นที่พัฒนาเมืองหรือพื้นที่ที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯทะลุกว่า 700 ตร.ก.ม.ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

นักผังเมือง กทม.พยากรณ์ว่า ในอีก 20 ปีหน้ากรุงเทพฯจะมีจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคนในพื้นที่จำกัดเท่าเดิม การจัดส่งบริการสาธารณะพื้นฐานของ กทม.ไม่ว่าจะเป็นการจราจร ที่อยู่อาศัย (housing) การรักษาพยาบาลจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาจราจรที่คนกรุงเทพฯต้องใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยคนละ 2-3 ชั่วโมง/วัน ทำยังไงจึงจะเกิด job-housing balance กล่าวคือเดินทางออกจากบ้านมาที่ทำงานหรือจุดหมายปลายทางอื่นด้วยเวลาที่สั้นลงหรือสั้นที่สุดให้ได้

"ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร" จึงจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของคนและเมือง รองรับนโยบายให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

สำหรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้กำหนดให้มีซับเซ็นเตอร์ หรือ "ชุมชนเมือง" เป็นพื้นที่ที่ในอนาคตจะส่งเสริมให้รองรับทิศทางการพัฒนาเมืองขยายออกไปตามจุดต่างๆ ได้แก่ สะพานใหม่ มีนบุรี บางขุนเทียน หนองจอก ลาดกระบัง

ด้านการคมนาคมขนส่งในอนาคตจะมีโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า 3 จุดหลักเชื่อมการเดินทางระหว่างซับเซ็นเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์พหลโยธิน บริเวณหมอชิต ศูนย์มักกะสันเชื่อมกับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และศูนย์ตากสิน บริเวณดาวคะนอง อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้จะใช้การเดินทางถนนโดยกำหนดจุดของซับเซ็นเตอร์เกาะแนวถนนวงแหวนสายนอกเป็นหลัก

ซับเซ็นเตอร์นี้เองที่จะเป็นลักษณะ job housing balance โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนตั้งร้านค้า มีโรงเรียน สถานที่ราชการ และที่ต้องการอย่างมาก คือ โรงพยาบาล ศูนย์ประชุม สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ เมื่อถึงระดับหนึ่งธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ก็จะตามเข้าไปโดยอัตโนมัติ เพื่อรองรับกับความเป็นชุมชนเมืองที่เกิดขึ้น โดยมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น คือ "การจัดรูปที่ดิน" (land adjustment) ซึ่งจะแก้ปัญหาพื้นที่ตาบอดซึ่งเท่ากับเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งการใช้ที่ดินออกเป็น 25 ย่านไปตามสีผังเมือง อาทิ สีเหลือง เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สีส้มที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง สีแดงที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เป็นต้น กรณีที่ดินใกล้แนวเส้นทางรถไฟฟ้ามีระบบ "โบนัส" จูงใจนักพัฒนาที่ดินโดยเพิ่มสัดส่วนก่อสร้างพื้นที่ใช้สอย ในอาคารให้ถ้าหากมีการกันพื้นที่บางส่วนจัดทำเป็นสวนหย่อมหรือสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการ เป็นคอนเซ็ปต์ของ "การ์เด้นซิตี้" เป็นต้น

การเดินทางที่กำหนดได้ด้วยตัวเอง

"อรวิทย์ เหมะจุฑา" ผู้อำนวยการกองขนส่ง เปิดประเด็นไปที่กรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ได้นั้น สำนักการจราจรและขนส่งวางแผนพัฒนาโดย "คนกรุงเทพฯจะเดินทางด้วยเวลาที่กำหนดได้" (move people on time) เป้าหมายคือทัศนียภาพโปร่งสบาย ประชาชนมีความมั่นคงสอดคล้องกับชีวิตคนไทย

ดังจะเห็นจาก กทม.มีการจัดระเบียบด้านการจราจรขนานใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในเรื่อง "เครื่องหมายจราจร" มีการนำระบบอัจฉริยะต่างๆ เข้ามาใช้ มีโครงการรณรงค "กฎจราจร" สอนเยาวชนหลักสูตรต่างๆ อาทิ อบรมเทศกิจ ภาษาจราจร เป็นต้น รวมทั้งภารกิจในการโน้มน้าวให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ยังไม่ได้นับรวมถึงการลงทุนแก้ไขปัญหา "คอขวด" ตามสะพานและจุดแยกต่างๆ ส่งผลให้การจราจรวิกฤตในหลายๆ จุดคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

ไฮไลต์กรุงเทพฯเมืองสวรรค์สำหรับการจราจร คือ การบริหารจัดการ "ต้นทาง-ปลายทาง" ในประเด็นที่ว่า ทำยังไงให้ที่อยู่อาศัยกับที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน แน่นอนว่าในภาพใหญ่ทางออกที่เห็นสอดคล้องกัน คือ เมกะโปรเจ็กต์ระบบรถไฟฟ้า ในระหว่างนี้ กทม.มีโครงการ "เมกะโปรเจ็กต์ล้อยาง" หรือโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT (Bangkok Rapid Transit) ที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวเปิดให้บริการสายนำร่องสายแรกเส้นทาง "ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์" ภายในปี 2551 นี้

3 ปัญหาท้าทายแห่งยุค

"บัณฑิต จุลาสัย" ด็อกเตอร์นักวิชาการภูมิสถาปัตย์จากจุฬาฯบอกว่า กรุงเทพฯเป็นมหานครที่มีความหลากหลาย คนกรุงเทพฯเองก็เป็นคนยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตามสถานการณ์ เคยทดลองให้ลูกศิษย์ทำการบ้านหัวข้อวิธีเดินทางมาเรียนที่จุฬาฯ ทำได้กี่วิธี คำตอบคือ 32 วิธี นี่คือตัวอย่างเสน่ห์ของกรุงเทพฯ เพราะบริการขนส่งสาธารณะมีทุกรูปแบบ เรามีอาหารการกินทุกชาติ ทุกระดับราคา นั่งในร้านอาหารหรือโรงพยาบาลบางแห่งจะนึกว่าอยู่ในต่างประเทศเพราะไม่พูดภาษาไทยกันเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯแม้จะเป็นเมืองสวรรค์มีหลายเรื่องที่ดี แต่ก็กำลังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องท้าทายแห่งยุคนั่นคือ 1.ความเจริญและการขยายตัวของเมือง ไม่เพียงแต่ก่อปัญหาการจราจร แต่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่นั่นคือ สลัมหรือชุมชนแออัดในรูปแบบเดิม กำลังจะผันตัวขึ้นไปเป็นสลัมหรือชุมชนแออัดบนห้องแถว อาคารชุดขนาดเล็ก คนเหล่านี้เริ่มมีปัญหามากขึ้น ต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน

2.การเดินทาง น่าสนใจว่ากรุงเทพฯมีระบบฟีดเดอร์หรือระบบขนส่งผู้โดยสารที่มีจุดเปลี่ยนถ่ายทางรถที่ดี แต่ปรากฏว่า "ทางเท้า" กำลังเป็นปัญหาเพราะการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะทุ่มเทให้กับการใช้พื้นที่ทางเท้า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางวิ่งรถจักรยาน จุดติดตั้งตู้โทรศัพท์ ป้ายอัจฉริยะ ปลูกต้นไม้ ฯลฯ

3.พื้นที่ข้างในหรือพื้นที่ก้นซอย จะพบว่าภาพใหญ่มีการดูแลบริหารจัดการอย่างดี อาทิ มีอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ปัญหาจราจรในจุดวิกฤตหลายๆ จุด แต่พื้นที่ข้างในลึกที่สุดในซอยกลับ "เข้าไม่ถึง" ผลลัพธ์คือพื้นที่ก้นซอยกับก้นซอยที่ใช้กำแพงติดกันมีความแตกต่างแทบจะคนละขั้ว มีตัวอย่างของก้นซอยฝั่งหนึ่งเป็นสลัม อีกฝั่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับท็อปของเมือง เป็นต้น

"ที่ผ่านมา กทม.ดูแลภายนอก ทำให้พื้นที่ภายในเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล ผมคิดว่า กทม.อาจจะต้องถึงเวลาต้องมาดูแลพื้นที่ภายในเหล่านี้ สิ่งที่รองรับได้ตอนนี้มีกฎหมายนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ต่อไปอาจจะจัดให้มีกรรมการหมู่บ้านในบล็อกของเขาเอง เพราะถ้าชาวบ้านได้มีสิทธิมีเสียงดูแลกันเอง จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างความเข้มแข็งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

เป็นการจบอย่างสวยงามสอดรับกับผลการนับคะแนนมติรับร่างรัฐธรรมนูญ 58% เมื่อคืนวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ ] วันที่ 23-08-2550 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.