| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 107 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 15-02-2550    อ่าน 11397
 เสวนาตรวจสอบ สุวรรณภูมิ 4 เดือนหลังรันเวย์ร้าว

4 เดือนเท่านั้น หลังจากเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ "สุวรรณ ภูมิ" ชื่อเสียงก็พลันโด่งดังข้ามโลก อีกครั้ง จากกรณีการเข้าไปตรวจสอบปัญหารอยร้าวบริเวณรันเวย์และแท็กซี่เวย์ เมกะโปรเจ็กต์สนามบินมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทในวันนี้ ไฮไลต์ไม่ใช่เรื่องปริมาณผู้โดยสารอีกต่อไป หากแต่โฟกัสไปที่คำตอบจากทีมผู้เชี่ยวชาญว่า สุดท้าย จะถึงขั้นต้องปิดสนามบินเพื่อซ่อมแซมหรือไม่

ล่าสุด 4 องค์กรวิชาชีพประกอบด้วยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้รวมตัวกันจัดงานเสวนาหัวข้อ "รวมพลังมืออาชีพไทยเพื่อสุวรรณภูมิ" เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี "ต่อตระกูล ยมนาค" และ "ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์" สองคนสองคมในฐานะตัวแทนวิชาชีพ และรั้งตำแหน่ง "กรรมการบริหาร" การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นแขกรับเชิญขึ้นเวทีฉายภาพถึงรายละเอียดสนามบินและปัญหาที่พบ ท่ามกลางมวลหมู่วิศวกรและสถาปนิกที่มาร่วมฟังการเสวนาเป็นจำนวนมาก

รันเวย์ร้าว จุดตายของสนามบิน

การเสวนาเริ่มต้นจาก "ต่อตระกูล ยมนาค" อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ เปิดประเด็นแบบร้อนแรงด้วยการยืนยันว่า การดำเนินการตรวจสอบสนามบินในช่วงที่ผ่านมาไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน และด้วยจรรยาบรรณของวิศวกรก็ไม่ควรถูกการเมืองชี้นำ ก่อนจะตบท้ายนิ่มๆ ว่า (ถ้าวิศวกรถูกการเมืองชี้นำ)...จะนำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิในขณะนี้

ภาพลักษณ์ของ "ต่อตระกูล" ในวันนี้คือ มือเอกซเรย์ปัญหา "รันเวย์ร้าว" ว่าจริงหรือไม่ ปัญหารุนแรงมากน้อยแค่ไหน อาจารย์ต่อตระกูลออกตัวว่า...ตามความเห็นส่วนตัวฟันธงว่า "เสีย (หาย) แล้ว" เนื่องจากมีรอยยุบตัวเห็นได้ชัด

"รอยร้าวบริเวณรันเวย์มีปัญหา 2 จุด ที่พบ คือรอยยุบตัวเป็นรูปล้อและรอยแตกบริเวณจุดที่เครื่องบินเลี้ยวกลับลำ สภาพปัญหาคือรันเวย์ต้องรับน้ำหนักเครื่องบินที่บรรทุกน้ำมันไว้เต็มลำ"

ที่ผ่านมาทาง ทอท.พยายามซ่อมแซมแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังมีปัญหา ก่อนหน้านี้จึงได้เจาะพื้นผิวรันเวย์เพื่อนำทรายภายในชั้นดินมาตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ตรงจุด และให้สามารถใช้งานสนามบินได้แบบถาวร ไม่ใช่การซ่อมแซมแบบปะผุเท่านั้น ในเบื้องต้น ถ้าหากจะซ่อมแซมรันเวย์โดยไม่ปิดสนามบิน จะมีผลต่อชั่วโมงการทำงานในการซ่อมแซมที่จะมีเวลาเพียงวันละ 3 ชั่วโมง (เท่านั้น)

ถัดจากซีเรียสเคสเรื่องรันเวย์แล้ว ยังมีปัญหาปลีกย่อย และมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจมองข้าม อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ผู้ใช้สนามบินได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่างๆ ภายใน อาคารสนามบิน อาทิ ระบบเตือนอัคคีภัยที่ยังมี จุดบกพร่อง ทางหนีไฟที่ยังมีสิ่งกีดขวาง ป้ายบอกทางบางจุดก็ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เป็นต้น

กรรมการงงยิ่งตรวจยิ่งเจอ

ตอกย้ำด้วยข้อมูลของ "ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์" ที่สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมากว่า การตรวจสอบสนามบินพบปัญหาทั้งหมด 60 จุดด้วยกัน ในจำนวนนี้เป็นปัญหาที่อาจเกิดอันตรายกับชีวิตถึง 30 จุด อาทิ ระบบควบคุมแสงสว่างในอาคารสนามบิน (lighting control system) ที่มีการติดตั้งบริเวณจั่วหลังคาสนามบิน ปัญหาคือหากอุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ระบบอาจขัดข้องหรือเกิดประกายไฟลุกไหม้ได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบเตือนอัคคีภัยและทางหนีไฟที่ปัจจุบันยังบกพร่อง เช่น มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ เป็นต้น

แน่นอนว่าการเข้ามาตรวจสอบสนามบินของสมาคมวิชาชีพในวันนี้ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามาใช้สนามบิน ทั้งที่เป็นความเชื่อมั่นของคนไทยและผู้โดยสารจากทั่วโลก สิ่งที่ตัวแทนสมาคมวิชาชีพกล่าวย้ำทุกครั้งเมื่อมีโอกาสก็คือ ไม่อยากให้ประชาชนกังวลหรือตื่นตระหนกเกินไป เพราะผลจากการตรวจสอบฐานรากอาคารสนามบินพบว่าแข็งแรงดี

ส่วนปัญหาต่างๆ ที่พบขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข ได้แก่ ระบบไลติ้งคอนโทรลมีการแก้ไขติดตั้งอุปกรณ์ครอบตัวระบบ พร้อมกับมีเครื่องปรับอากาศเพื่อปรับอุณหภูมิให้เย็นตลอดเวลา บันไดหนีไฟได้เคลียร์สิ่งกีดขวางออกทั้งหมดและแก้ไขป้ายบอกทางให้อยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องน้ำให้เพียงพอโดย เตรียมงบฯ 30 ล้านบาท และที่กำลังจะดำเนินการต่อไปคือตรวจเช็กแก้ไขระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศภายในอาคารทั้งหมด

อย่างไรก็ตามในความเห็นของอาจารย์ ยอดเยี่ยม การตรวจสอบสนามบินสุวรรณภูมิเข้าทำนอง "ยิ่งตรวจยิ่งเจอ" โดยยกกรณีตัวอย่างที่เกี่ยวโยงกับจรรยาบรรณสถาปนิกในเรื่องการออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความปลอดภัยสูงสุด (safety factor) พบว่าประตูกระจกแบบหมุนวนที่ใช้เข้า-ออกตัวอาคารมีปัญหาแตกร้าวเป็นรูปปากฉลาม สาเหตุเพียงเพราะสถาปนิกออกแบบโดยไม่ได้เลือกใช้วัสดุกระจกนิรภัยแบบโค้ง ซึ่งเป็นเรื่องเบสิกมากในต่างประเทศ แต่ประตูกระจกแบบหมุนวนดังกล่าวกลับมีการใช้วัสดุกระจกที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากระจกธรรมดา

ข้อมูลที่น่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีกคือ "...โครงการนี้เป็นสิ่งที่พิสดารมาก เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหาได้ว่าใครคือคนออกแบบสนามบิน ไม่มีใครกล้าออกมายอมรับแม้แต่คนเดียว ปัจจุบันก็มีพื้นที่บางส่วนที่ไม่มีใครกล้าเซ็นรับงาน ทำให้ผู้รับเหมาจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับเงินค่าก่อสร้างคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท"

นำไปสู่บทสรุปสั้นๆ สะท้อนความเห็นในฐานะสถาปนิกรุ่นใหญ่ที่ว่า...สนามบินสุวรรณภูมิเปรียบเสมือนเป็นสุสานฝังวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย !

สถาปนิกแนะแก้ไขในภาพรวม

บนเวทีเดียวกันนี้ "สิน พงษ์หาญยุทธ" นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ แจมมุมมองว่า ปัญหาต่างๆ ของสุวรรณภูมิที่เกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าสามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสนามบินที่สมบูรณ์แบบได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยรอสนามบินแห่งนี้มานานถึงกว่า 40 ปี ถือว่าลงทุนมามากแล้วทั้งด้านเวลาและงบประมาณลงทุน จึงอยากให้ซ่อมแซมมากกว่า

พร้อมเสนอแนวทางเสร็จสรรพว่า "...วิธีคิดคือ เมื่อจะลงมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก็ควรทำในภาพรวมทั้งหมด ไม่ควรเลือกแก้ไขเพียงบางจุด"

โดยสถาปนิกสยามฯเลือกที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ ไม่เพียงแต่วิเคราะห์ปัญหาแต่ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับทางออกไว้ด้วย ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในเอกสารเรื่อง "สมาคมสถาปนิกสยามฯกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากอดีตสู่ปัจจุบัน" ความหนา 17 หน้า พร้อมรูปประกอบมอบให้แก่ ทอท. สำหรับเป็นคู่มือคำแนะนำจากมุมมองสถาปนิกในการแก้ไขปัญหาสนามบิน

เนื้อหาสรุปปัญหาเป็น 3 ส่วนคือ 1) ปัญหาที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารและงบประมาณ 2) ปัญหาระหว่างการก่อสร้าง มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ใช้สอย และ 3) ปัญหาหลังเปิดใช้สนามบิน เช่น การจัดวางตำแหน่งร้านค้าในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

ข้อเสนอมี 2 ข้อคือ 1) ให้จัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ทบทวนการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยร้านค้าและพื้นที่สัญจรเพื่อความเป็นระเบียบ และจัดทางสัญจรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการแบบครบวงจร 2) ให้จัดจ้างทีมบริหารจัดการอาคารเพื่อบริหารการใช้อาคารทั้งภายในและภายนอกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ ] วันที่ 15-02-2550 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.