| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 57 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 27-11-2549    อ่าน 11394
 เปิดใจมังกรฮ่องกง คีรี กาญจนพาสน์ "BTS พ้นจากฟื้นฟู จะเข้มแข็งขึ้น"

ดูเหมือนวันวานกับวันนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานเดินรถรถไฟฟ้าบีทีเอส มีความแตกต่างกันอย่างน่าทึ่ง เฉพาะปริมาณโดยสาร ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มพรวดจาก 1.2 แสนคนต่อวัน เป็น 5.5 แสนคนต่อวัน

ล่าสุดบริษัทบีทีเอสกำลังรอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลและจะมีการโหวตในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ก้าวใหม่ของรถไฟฟ้าบีทีเอสกับอนาคตของนักธุรกิจหนุ่มใหญ่จากแดนมังกร "คีรี กาญจนพาสน์" ในฐานะผู้ปลุกปั้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายแรกของเมืองไทยจะดำเนินอย่างไรต่อไป "ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้มีคำตอบ

- อยากให้คุณคีรีพูดถึงบีทีเอสที่กว่าจะถึงวันนี้

วันที่ 5 ธันวาคมนี้ บีทีเอสจะครบ 7 ปีพอดี ในแง่โอเปอเรต ถ้ารวมก่อสร้างก็ 10 กว่าปี กว่าเราจะถึงวันนี้ เหนื่อยมั้ย มันเหนื่อยแน่ แต่ผมก็ภูมิใจกับแรงทุ่มเทที่ทำไปกับโครงการนี้ จนผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด ผมถือเป็นเครดิตบริษัทและผู้บริหารทุกคน

แล้วผลสำรวจก็ระบุชัดเจนว่า รถไฟฟ้าคือการแก้ปัญหาจราจรที่ตรงจุดที่สุด ซึ่งทั่วโลกก็เริ่มยอมรับรถไฟลอยฟ้ามากขึ้น มองเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ไม่ต่อต้านเหมือนในอดีต

แต่ในใจผมติงนิดเดียว คือผมรู้สึกเสียดายเวลาที่เสียไปกับผู้คัดค้านที่ไม่มีเหตุมีผล ไม่งั้นแล้ว เราคงไม่วุ่นวายขนาดนี้ เพราะการคัดค้านแต่ละครั้ง ผมมีต้นทุนที่สูงขึ้นตลอด แล้วมาเจอเรื่องลดค่าเงินบาทอีกหลังวิกฤตฟองสบู่ ผมจึงลำบากหนัก แต่ผมเป็นคนไม่ท้อ แม้ภาระหนี้มันจะมาก

จนเราได้เข้าฟื้นฟูแล้ว แทนที่จะไปคุยกับเจ้าหนี้ ใช้เวลา 3 ปียังคุยกันไม่รู้เรื่อง เลยนำเข้ากระบวนการฟื้นฟู และเจ้าหนี้ขายหนี้กันวุ่นวายไปหมด ฝรั่งขายให้ไทย ไทยขายให้ฝรั่ง กลับไปกลับมาวุ่นไปหมด เจ้าหนี้เก่าเหลือไม่กี่คน ตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นฟื้นฟู ต้องรอวันที่ 29 พฤศจิกายน ถ้าไม่มีอะไรพิเศษ จะเป็นวันที่โหวตให้กับแผน

- คุณคิดว่าจะราบรื่นมั้ย

ผมทำแผนค่อนข้างจะแฟร์กับเจ้าหนี้ เราต้องให้มากกว่า เพราะบริษัทดำเนินการได้ดีพอควร ที่เราทำงานหนักเพราะต้องไปจ่ายหนี้ แต่น่าเสียดายตรงที่ว่า แทนที่จะได้จ่ายเจ้าหนี้เดิมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับกลายเป็นว่าเราต้องไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ใหม่ที่ซื้อลดหนี้มา

- กับความเห็นรถไฟฟ้า 5 สาย

ก็โอเคนะครับ ผมพูดมากไม่ได้ เดี๋ยวหาว่าเราเข้าข้างตัวเอง นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ประกาศสร้างรถไฟฟ้า 5 สายเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำต่อเนื่อง แต่ควรคำนึงถึงทางที่จะผ่านและสถานที่ที่จะไป เพราะทุกวันนี้ของแพงมาก ทำรถไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก

- บีทีเอสสนใจรถไฟฟ้าสายใหม่หรือไม่

ผมก็สนใจ แต่ต้องรอออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ไม่ใช่รถไฟฟ้า 5 สายเท่านั้น ผมสนใจจะลงทุนในต่างประเทศด้วย ทั้งเซตอัพ โอเปอเรต ก่อสร้าง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะไปที่ไหน แต่จะเป็นประเทศแถบภูมิภาคนี้

- แล้วแหล่งเงินทุนกับแผนเพิ่มทุน

เมื่อออกจากแผนฯ ผมคิดว่าบีทีเอสจะสมบูรณ์และแข็งแรงเต็มที่ ถึงเวลานั้นผมจะบอกเรื่องแหล่งเงินทุน แต่การเพิ่มทุนต้องทำแน่ วงเงินประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท

- จะหาใครร่วมทุนด้วย

พันธมิตรร่วมทุนมีแน่ แต่การบริหารต้องเป็นเรา เราจะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น

- ถ้าแผนฯไม่ผ่านผลจะเป็นยังไง

(เงียบ-ไม่ตอบ) ผมคิดว่าแผนฯที่เสนอไปค่อนข้างจะดีนะ เจ้าหนี้ได้คืนมากกว่าที่คิด ถามว่ามั่นใจมั้ย บอกได้เลยว่ามั่นใจ แต่รายละเอียดพูดไม่ได้

- ถ้าเทียบแผนใหม่กับแผนเดิม

ต่างกันมหาศาล เพราะว่าแผนฟื้นฟูเดิมเจ้าหนี้ที่มาคุยนั้น ระบุว่าเมื่อปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ ใน 18 ปีจะไม่มีปันผล มีเงินเท่าไหร่ให้เจ้าหนี้หมด ผมไม่รู้จะปรับไปทำไม แต่ของใหม่ ปีแรกจะมีเงินปันผลทันที นี่คือ target จากนั้นไตรมาส 2 ปีหน้า เราจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ เพื่อระดมทุนลงทุนต่อยอด

- การเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น

ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ คงจะเปลี่ยนแปลงบ้าง และอาจมีผู้ถือหุ้นใหม่ต้องรอดู

- ขออัพเดตปริมาณผู้โดยสาร

เพิ่มขึ้นมาอีก 11-12% ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5-4.6 แสนคนต่อวัน บางวันสูงสุดวันละ 5.5 แสนคน แต่ยังไม่ถึง 6 แสนคน แต่ก็แน่นมากแล้ว ต้องซื้อรถเพิ่ม

- ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จจะซื้อรถเพิ่มเลย

ใช่ จะซื้อเพิ่มอีก 12 ขบวน วงเงิน 90 ล้านเหรียญ ซึ่งต้องรออีก 1-2 ปี ผมได้ออกทีโออาร์ไปแล้วให้คนมาเสนอราคา เปิดการแข่งขันอย่างเสรีสู้ราคากันและให้โปร่งใส แต่ต้องรอให้ศาลอนุมัติให้ซื้อ

- จำเป็นต้องระบุยี่ห้อมั้ย

ไม่จำเป็น ใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ เพราะเราจะเปลี่ยนระบบใหม่ กำลังขออนุมัติจากศาล ทั้งหมด 150 ล้านเหรียญ (5,400 ล้านบาท) รวมกับซื้อรถเพิ่มอีก 12 ขบวนรถ

- สรุปจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณจากอัลคาเทล

ผมยังพูดไม่ได้ ...

- ทำไมถึงเปลี่ยนจากระบบซีเมนส์

ผมไม่ได้บอกเปลี่ยนซีเมนส์ แต่ถ้าเสนอราคาสูงจนสู้ไม่ได้ ผมก็ไม่ซื้อ เขาเสนอราคามาครั้งแรก สูงเกินกว่าที่เราจะรับได้ เราต้องเปรียบเทียบทุกยี่ห้อที่เสนอเข้ามา รถไฟฟ้าเราต้องซื้อเรื่อยๆ ถ้าต่อขยายอีก ผมต้องบริหารต้นทุน จะให้เงินจมอยู่กองเดียวไม่ได้

- ผู้โดยสารเปิดครั้งแรกเท่าไหร่

ประมาณ 1.2 แสนคน เราตั้งอยู่ที่ประมาณ 5 แสน ตอนนี้ถือว่าเราได้ตามเป้าแล้ว ตอนแรกเรานึกไม่ถึงว่าคนจะกลัวรถไฟฟ้า ทำให้คนไม่กล้าขึ้น เพราะกลัวตก ก็โชคดีที่ว่าเราสอนให้คนใช้เป็น เราได้ตรงนี้ เวลานี้ระบบของเราได้รับคำชมเชยสูงมาก เราตั้งไว้ว่าคนใช้ 1,100 เที่ยว จะดีเลย์ 5 นาทีต่อครั้ง แต่ออกมาจริง 3,000 เที่ยวถึงจะเจอ ตอนนี้ความน่าเชื่อถือเราทำได้สูงมาก ผมขอศาลซื้อรถเพิ่ม มีบางคนไม่เข้าใจว่าซื้อมาทำไม

- คนที่ต่อต้านคุณ เขาต้องการอะไร

ผมไม่รู้จริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือความจริง ของทุกอย่างเป็นความจริง เขามาบอกว่ารถไม่ต้องซื้อ ใช้อีก 4 ปีได้ไหม แต่ให้ดูว่าความเป็นจริงเป็นยังไง เราไม่รู้จะตอบยังไง เอาความจริง หลักฐานมาดูกัน แล้วแต่ศาลจะพิจารณา คนแน่นจนขึ้นรถไม่ได้ ถ้ามีปัญหามากๆ ผมจะบอกว่าใครเป็นคนคัดค้าน

- สายตาคนนอกไม่รู้หรอกว่าอินไซด์คืออะไร แต่คนจะรู้สึกพอใจสินค้าของคุณมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมขอบคุณมากกับความพอใจในรถไฟฟ้าและบริการของบีทีเอส ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยพูดอะไรออกไป ไม่ได้พี.อาร์.มาก ผลงานจะบอกตัวเอง ถือเป็นเกียรติอย่างหนึ่ง

- มีประเมินมั้ยผู้โดยสารจะเพิ่มเท่าไหร่ ถ้าต่อสายสีเขียว

ไม่มี แต่สายสีเขียว อยากเสนอแนะว่า ถ้าทำต่อจากตากสินไปบางแคใช้เงินนิดเดียว แต่นโยบายต้องมาทำใหม่ ทำเป็นอุโมงค์ใต้น้ำ ค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น ค่าอุโมงค์อย่างเดียว 2-3 หมื่นล้านบาท รัฐต้องเพย์เซฟ ผมพูดอะไรไม่ได้ เอาแผนที่วางดูสิ ต่อไปอีกหน่อย คนบางแคก็ได้ใช้แล้ว ไม่ต้องลงทุนมาก

- ถ้าข่าวออกไปว่าคุณอยากได้ต่อขยายสายสีเขียว คงเกิดข้อวิจารณ์อีก

(ส่ายหน้า) ก็อย่างนี้ล่ะ ไม่คิดว่าโครงการนี้เราลงทุนเองทั้งหมดเป็นหมื่นๆ ล้าน ติดหนี้หัวโต มาวันนี้ยังว่าเอื้อประโยชน์เราอีก บีทีเอสทำมา 7 ปี เซฟพลังงานของประเทศไปเท่าไหร่คิดบ้างมั้ย เคยได้รางวัลบ้างมั้ย แหม ! เอื้ออะไร เอื้อให้กับประชาชน ให้คนใช้บริการมากกว่า

- รัฐบาลใหม่หลังปฏิรูปการเมือง คุณคาดหวังอะไรบ้าง

ผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจ แต่ระยะเวลาอันสั้น ประมาณ 1 ปี จะทำทุกอย่างพร้อมกันคงยาก แต่กรอบลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ ก็โอเคนะครับ

- จากประสบการณ์คุณกับรถไฟฟ้าบีทีเอส คุณอยากบอกอะไร

ผมคิดว่าการทำรถไฟฟ้าให้วิ่งรับคนเยอะๆ อย่างทุกวันนี้ เป็นงานไม่ง่าย เพราะเป็นงานที่ทำกับมวลชนแสนๆ คน ถ้าสมาธิไม่พอ ทำไม่ได้แน่นอน ความสะดวกและความปลอดภัยต้องมาพร้อมกัน

กับบีทีเอสเส้นทางยังสั้นอยู่ แค่ 20 กิโลเมตรกว่า ผมว่ายังพอคุมได้ แต่ถ้าระยะทางยาวกว่านี้ การควบคุมจะละเอียดอ่อนมากขึ้น ต้องพยายามให้มากกว่านี้ ส่วนวิธีการที่รัฐบาลใช้วิธีการร่วมทุน โดยรัฐลงทุนโครงสร้าง และเอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า แนวคิดนี้ก็โอเค

- ระบบตั๋วร่วมจะรออีกนานไหม

เป็นไปได้แน่ ของบีทีเอสตั้งแต่ 1 ธันวาคมจะเริ่มใช้แล้ว บัตรสมาร์ทพาส มีโปรโมชั่น 2 เดือน ลดราคาพิเศษให้ระบบตั๋วร่วมควรจะเร่งดำเนินการ เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร แต่ต้องดูว่าจะร่วมกันยังไงในวิธีการ

- ฟังๆ มาจากเสียงที่เคยฮึกเหิมดูเบาลง จริงๆ คุณเคยท้อมั้ย

(พยักหน้า) เมื่อก่อนกับวันนี้ ผมก็เปลี่ยนๆ ไปนะ แต่เปลี่ยนแบบ "เข้าใจ" อะไรมากขึ้น ยอมรับมากขึ้น ในอดีตเคยฮึดและรู้สึกท้อบ้าง มันเหมือนจะหมดความหวัง แต่ผมคิดใหม่ว่าเราจะท้อแท้ไม่ได้ เพราะเรามีผู้ถือหุ้นเยอะแยะ บริษัทเราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง จะยอมปล่อยมือยังงั้นเหรอ สุดท้ายก็พยายามทุกอย่าง มุ่งมั่นมาก สำคัญสุดคือความจริงใจ จริงใจที่เราจะไปแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน เมื่อคิดยังงั้นแล้วก็เริ่มดีเริ่มนิ่ง มีปัญหาอะไรมาก็แก้ไขได้หมด ผมเข้าใจความรู้สึกเจ้าหนี้ดี แล้วผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด

- คุณใจเย็นลงบ้างมั้ย

ปกติผมเป็นคนใจร้อนและเสียงดัง ไม่ได้ใจเย็นลงเลย แต่ตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้น เมื่อก่อนผมค่อนข้างมั่นใจเกินตัว ตอนนี้คงต้องใช้ "ระบบ" เข้ามาช่วยเรื่องงาน เมื่อก่อนผมไม่ยอมรับว่าผิด แต่ผมต้องก้มหน้ายอมรับไว้ก่อนกับผู้ถือหุ้น อาจมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ชอบแล้วทำการต่อต้าน จนเรากลายเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งผู้ถือหุ้นด้วย

ที่ผมยอมรับผิด บางครั้งก็นึกนะผมผิดอะไรตรงไหน แต่ช่างมันเถอะ มันผ่านไปแล้ว ผมจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด ผมแก่ตัวขึ้น ทำให้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะ "จองหอง" และ "โอเวอร์"

ไม่รู้นะ ผมคิดว่าถ้าไม่เกิดวิกฤต ป่านนี้ผมสบายไปแล้ว ลูกน้องทีมงานจะไม่เหนื่อยแบบนี้ อสังหาฯ คอนโดฯ คงทำหมด แต่เมื่อเราอ่อนแอ คนอื่นกลับได้อานิสงส์หมด ทุกคนได้หมด ทั้งประเทศชาติ สังคม ประชาชน นักธุรกิจ แต่ผมกลับไม่ได้อะไรเลย

- อยากทราบถึงอายุกับชีวิตหลังเกษียณ

ตอนนี้ผม 57 ปีเต็ม เป็นอากง (ปู่) แล้วครับ ดูแก่ขึ้นมั้ย แต่ใจผมยังสู้อยู่นะ จะทำงานอย่างน้อยอีก 10 ปี ถึง 60 ปีก็ยังไม่เกษียณ เพราะผมเป็นคนอยู่เงียบๆ เฉยๆ ไม่เป็น

  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ ] วันที่ 27-11-2549 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.