| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 93 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 12-06-2549    อ่าน 12041
 หน้าฝน-ลมแรง ระวังป้ายถล่ม !

ย่างเข้าหน้าฝนสู่ฤดูกาลข่าวที่คุ้นเคยทำนองที่ว่า เกิดลมพัดป้ายพังถล่มทับคนตายหรืออาจโชคดีแค่บาดเจ็บ ทำให้เกิดความสงสัยว่าสาเหตุที่ป้ายพังนั้นมาจากอะไรได้บ้าง อาทิ ลมพายุพัดรุนแรงผิดปกติ ป้ายเก่าจนชำรุดทรุดโทรมมาก วิศวกรออกแบบผิดพลาด หรือจะเป็นป้ายสร้างผิดแบบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มักมีแต่คำถามแต่ไม่มีคำตอบ !

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ป้ายที่เราพบเห็นอยู่ทุกวันนี้มีความปลอดภัยเพียงพอและถูกกฎหมายหรือไม่

กม.บังคับความยาวป้าย 32 เมตร

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ปัญหาการเกิดป้ายพังถล่มมีเกิดขึ้นบ่อยๆ ในทุกๆ ปี แต่มักจะพบว่านานๆ ครั้งจึงจะเป็นข่าวเพราะโชคดีที่ป้ายนั้นไม่ได้ล้มลงมาทับคนตาย

ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามข้างทางสัญจรที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ นั้น บางป้ายอาจมีความยาวมากกว่า 50 เมตร ทราบหรือไม่ว่าตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามก่อสร้างป้ายโฆษณาที่มีความยาวเกิน 32 เมตร !

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ ป้ายที่มีขนาดมากกว่า 32 เมตร เขาสามารถสร้างกันได้อย่างไร ? คำตอบคือส่วนใหญ่ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายโดยการขอสร้างป้ายหลายๆ ป้ายใกล้ๆ กัน แล้วต่อเชื่อมกัน ในภายหลัง แต่กระนั้นป้ายดังกล่าวก็ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายอยู่ดี เนื่องจากตามกฎหมายป้ายจะต้องสร้างห่างกันไม่น้อยกว่า 6 เมตร !

พลิกกฎหมายดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ข้อ 13 ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรงต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุด ที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ ที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นที่สุด และมีความยาวของป้าย ไม่เกิน 32 เมตร

ข้อ 48 การก่อสร้างอาคารใกล้อาคารอื่น ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน พื้นหรือผนังของอาคารสำหรับอาคารสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องห่างอาคารอื่นไม่น้อยกว่า 4 เมตร และสำหรับอาคารที่สูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ต้องห่างอาคารอื่น ไม่น้อยกว่า 6 เมตร

ในขณะที่การนำป้ายตั้งแต่ 2 ป้ายมาเชื่อมต่อกันนั้น วิศวกรหลายคนอาจคิดว่าสามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ โดยที่ป้ายดังกล่าวน่าจะมีพฤติกรรมเสมือนป้ายขนาดใหญ่ที่มีขา 2 ขาเหมือนกับ 1+1 = 2

แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมของป้ายที่รับแรงลมอาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากหน่วยแรงลมมักไม่ได้กระทำสม่ำเสมอตลอดทั่วทั้งป้าย ดังเช่นในกรณีที่ลมไม่ได้พัดเข้าปะทะป้ายตรงๆ แต่กระทำเป็นมุมเฉียงแทน

ในกรณีนี้หน่วยแรงลมที่กระทำบริเวณพื้นที่ ใกล้ขอบด้านหนึ่งของป้ายจะมีค่ามากกว่าพื้นที่บริเวณกลางป้ายและพื้นที่บริเวณขอบด้านตรงกันข้าม

ซึ่งกรณีดังกล่าวเสาต้นแรกอาจต้องรับแรงลมมากถึง 75% ของแรงลมทั้งหมด ในขณะที่เสาอีกต้นรับแรงลมเพียง 25% เท่านั้น ซึ่งถ้าวิศวกรมิได้คำนึงถึงและไม่ได้ออกแบบโครงสร้างให้เตรียมรับสถานการณ์เช่นนี้ไว้ตั้งแต่แรก เสาต้นแรกที่รับแรงลมมากเป็นพิเศษก็อาจถึงกับวิบัติได้

นอกจากนี้ ป้ายหลายแห่งมักก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ เช่น ตามแบบระบุให้ก่อสร้างด้วยวิธีการเชื่อม แต่ก่อสร้างจริงใช้วิธียึดด้วยนอต สาเหตุก็เพราะพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งป้ายนั้นเป็นพื้นที่เช่า เมื่อหมดสัญญาแล้วก็ต้องย้ายป้ายนั้นออกไป ดังนั้นหากใช้วิธียึดด้วยนอตแล้วจะสามารถถอดประกอบโยกย้ายนำไปใช้ที่อื่นได้ง่าย

แต่ข้อเสียก็คือ พฤติกรรมของโครงสร้างที่ใช้วิธีเชื่อมกับวิธียึดด้วยนอตนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานนอตจะคลายตัว ซึ่งจำเป็นต้องกลับมาขันใหม่เป็นระยะๆ หากเจ้าของป้ายปล่อยปละละเลยไม่มีการบำรุงรักษาก็จะทำให้ความมั่นคงแข็งแรงของป้ายลดลงและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

โครงสร้างกับแรงลมสูงสุด

ประเด็นต่อมาที่น่าจะมีวิศวกรจำนวนไม่น้อยสงสัยก็คือ มาตรฐานหรือข้อกำหนดที่ใช้ในการ ออกแบบโครงสร้างรับแรงลมที่ใช้กันอยู่ ในปัจจุบันนั้นคลอบคลุมและมีความปลอดภัย เพียงพอหรือไม่ ?

เนื่องจากวิศวกรผู้ออกแบบจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างป้ายให้สามารถต้านทานแรงลมที่สูงที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับป้ายได้อย่างปลอดภัย และเพื่อการนี้กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 รวมทั้งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ได้อนุญาตให้วิศวกรใช้หน่วยแรงลมดังต่อไปนี้ในการคำนวณหา "แรงลมสูงสุด" ดังนี้

พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 10 เมตร มีหน่วยแรงลม 50 กิโลกรัมต่อตารางเมตร พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 10 เมตร แต่ไม่เกิน 20 เมตร มีหน่วยแรงลม 80 กิโลกรัมต่อตารางเมตร พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 20 เมตร แต่ไม่เกิน 40 เมตร มีหน่วยแรงลม 120 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และพื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 40 เมตร มีหน่วยแรงลม 160 กิโลกรัมต่อ ตารางเมตร

แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้น ค่าหน่วยแรงลมสูงสุดที่กระทำต่อป้ายอาจมีค่าแตกต่างจากค่า ที่กฎหมายกำหนด โดยถ้ามีค่าน้อยกว่าป้าย ก็ควรจะตั้งอยู่ได้อย่างปลอดภัย หรือแม้แต่ในกรณีที่มีค่ามากกว่าที่กฎหมายกำหนดเล็กน้อย ป้ายก็ควรที่จะสามารถต้านทานได้ เพราะมาตรฐานการออกแบบทางวิศวกรรมได้กำหนดให้มีการเผื่อไว้สำหรับความไม่แน่นอนของกำลังวัสดุโครงสร้าง ในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าแรงลมสูงสุดมีค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปมาก โครงสร้างป้ายก็อาจต้านทาน ไม่ไหวจนอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้

จากข้อมูลและเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า แม้ป้ายโฆษณาที่ได้รับ การออกแบบอย่างถูกต้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดในกฎหมาย รวมทั้งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็อาจพังทลายล้มคว่ำลงมาได้ถ้าเกิดมีลมพายุที่รุนแรงในระดับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยที่ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถ้าคุณภาพของการก่อสร้างป้ายนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน

ทางแก้ต้องคุมเข้ม กม.-มาตรฐานป้าย

เมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าการที่จะก่อสร้างป้ายที่มีขนาดใหญ่กว่า 32 เมตรนั้น กฎหมายในปัจจุบันไม่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งสวนทางกับความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทต้องการที่จะโฆษณาสินค้า ของตนเองตามจุดต่างๆ ที่มีผู้คนผ่านไปมาเป็นปริมาณมาก และจะต้องมีขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย

ดังนั้น บริษัทที่รับสร้างป้ายจึงต้องพยายาม หลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช้ช่องทางต่างๆ รวมทั้งอาจติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ ทั้งนี้เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ป้ายโฆษณายิ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีอันตรายมากตามไปด้วย

นำไปสู่บทสรุปที่ว่า กฎหมายและมาตรฐานต่างๆ สมควรที่จะต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายและมาตรฐานเดิมได้ร่างไว้เป็นเวลานานแล้ว ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กำลังแก้ไขมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างรับแรงลมขึ้นใหม่ โดยใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ปัญหาของการก่อสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่นั้น ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวแต่เป็นปัญหาใกล้ตัวของเราทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่แห่งรัฐเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วยที่จะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ สังเกตและตรวจสอบว่าป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่พบเห็นกันอยู่ทุกวันนั้นก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอหรือไม่

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นอีก


โดย สืบศักดิ์ พรหมบุญ/ชูเลิศ จิตเจือจุน บริษัท อินเตอร์-คอนซัลท์ จำกัด

  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ ] วันที่ 12-06-2549 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.