| freesplans.com | ศูนย์รวมแบบบ้าน และ ตกแต่ง หลากหลายสไตล์
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
: : g o  t o  m a i n p a g e : :
สถาปัตยกรรม | ตกแต่งภายใน | ดีไซน์-แกลอรี่ | แบบบ้านสวย | แนะนำ-ติชม | ถาม-ตอบ เรื่องบ้าน | ติดต่อเรา 
ขณะนี้มีผู้ชมอยู่ 59 ท่าน 
FreeSplanS MENU
Profession Search
+ งานสถาปัตยกรรม
+ งานวิศวกรรม
+ งานรับเหมาก่อสร้าง
+ งานรับเหมาเฉพาะด้าน
+ งานออกแบบ
+ งานอสังหาริมทรัพย์
+ งานบริการอาคาร
C a l c u l a t o r . . .
+ คำนวณปริมาณคอนกรีต
+ คำนวณปริมาณการใช้สี
+ คำนวณปริมาณกระเบี้องปูพื้นและผนัง
+ คำนวณปริมาณวอลเปเปอร์
+ คำนวณปริมาณ BTU แอร์
D o w n l o a d s . . .
+ Agreement & Forms
+ Program Utilities
+ Windows Font

 

Link to us!!!
Link to US!!!






ข่าวเศรษฐกิจ / วงการก่อสร้าง
 
กด Like เป็นกำลังใจให้เว็บด้วยนะค่ะ
| ข่าวทั้งหมด |

 fp 01-06-2549    อ่าน 12034
 "วสท." ชำแหละ 14 สาเหตุทำไม "บ้านทรุด"

ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจับตามอง กับกรณีทาวน์เฮาส์เลขที่ 171/52-59 ในโครงการสินธานี ลาดพร้าว 80 เกิดทรุดตัวลงมาพร้อมกันทั้ง 8 หลัง

แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของตลาดทาวน์เฮาส์ไม่มากก็น้อย

ล่าสุด เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างให้ทาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะคนกลางเข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุการทรุดตัว เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา และตามกำหนดจะมีการแถลงถึงสาเหตุที่บ้านทรุดตัวลงมาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้ม ครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

พลิกปูมปัญหาซ้ำซาก

ว่ากันถึงปัญหาบ้านทรุด-บ้านร้าว ไม่ใช่เหตุ การณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ตัวอย่างกรณีล่าสุดคืออาคารเรียนสูง 4 ชั้น ภายในโรงเรียนลาซาล ซอยสุขุมวิท 107 ย่านบางนา

สำหรับอาคารเรียนหลังนี้เริ่มเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2504 มีฐานรากเป็นเสาเข็มไม้ความยาวประมาณ 6 เมตร แต่ด้วยเทคโนโลยีและระดับความรู้งานวิศวกรรมในสมัยนั้นที่ยังไม่พัฒนาเท่ากับปัจจุบัน จึงทำให้เกิดปัญหาตึกทรุดตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้มีการวางแนวเสาเข็มฐานรากที่ 3 ด้านหน้าอาคาร ทำให้ฐานรากด้านหน้าต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น โดยในปี 2543 พบว่าอาคารทรุดตัวมาทางด้านหน้าประมาณ 60 เซนติเมตร

บริษัท อินเตอร์-คอนซัลท์ จำกัด เข้ามาดำเนินการเสริมฐานรากและปรับระดับอาคารใหม่ โดยเสริมฐานรากด้วยเสาเข็ม 261 ต้น จากนั้นจึงประกอบฐานรากอาคารใหม่จำนวน 64 ฐาน และปรับระดับอาคารให้ตั้งตรงพร้อมกับยกระดับขึ้นอีก 1.5 เมตร เพื่อไม่ให้น้ำท่วมถึง ซึ่งโดยเฉลี่ยการเสริมฐานรากจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการทุบอาคารและก่อสร้างใหม่ประมาณ 10-70%

นอกจากนี้ก็ยังมีเคสโครงการจัดสรรแห่งหนึ่งในย่านบางบัวทองที่ทรุดตัวลงมาเนื่องจากก่อสร้างผิดแบบ เดิมทีขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารหน้ากว้าง 4 เมตร และใช้เสาเข็มหน้าตัดสี่เหลี่ยมแบบตัน แต่กลับสร้างบ้านขนาดหน้ากว้าง 5 เมตร และใช้เสาเข็มหน้าตัดรูปตัวไอซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ฐานรากรับน้ำหนักไม่ไหว

"สืบศักดิ์ พรหมบุญ" ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วสท. หัวหน้าทีมตรวจสอบสาเหตุการทรุดตัวของโครง การสินธานี สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับปัญหาตึก ทรุดว่า เป็นปัญหาที่ วสท.ได้รับการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2549 ถึงขณะนี้มีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการประมาณ 20 ราย ใน จำนวนนี้เกือบ 50% เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบ้านทรุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของ กทม.คือมีชั้นดินอ่อนลึกประมาณ 15-16 เมตร ในเชิงการออกแบบฐานรากถือว่ายาก บวกกับพื้นที่กรุงเทพฯมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในแต่ละปีนับล้านๆ คิวบิกเมตร ส่งผลให้พื้นที่รอบนอก กทม.จึงมีการทรุดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร

ส่วนปัญหาตึกทรุดที่เกิดจากการลดสเป็กวัสดุ หรือไม่ก่อสร้างตามแบบที่ขออนุญาตก็เป็นปัญหา ที่พบมาก เช่นเดียวกับสาเหตุที่เกิดจากการออก แบบโดยวิศวกรที่ขาดความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง

"ปัญหาเสาเข็มไม่ได้มาตรฐานเป็นอีกเรื่องที่เจอเยอะมาก โดยเฉพาะงานก่อสร้างตามต่างจังหวัด ตรงนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ อีกเรื่องก็คือการนำปูนฉาบมาใช้ทำงานโครง สร้างเพื่อลดต้นทุนทำให้ตัวอาคารไม่แข็งแรง"

มึน ! เสาเข็มต่ำมาตรฐานเกลื่อนเมือง

อย่างไรก็ตาม เรื่องเสาเข็มยังเป็นเรื่องไกลตัวที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญ อาจจะเป็นเพราะเสาเข็มถูกฝังอยู่ในดินทำให้ถูกมองข้ามไป ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นวัสดุโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหมด

"ชุมพล อิศรางกูร ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตเสาเข็มรายใหญ่ยอมรับว่า ในจำนวนผู้ผลิตเสาเข็มที่มีอยู่ประมาณ 100 กว่ารายในปัจจุบัน ถ้าประเมินสัดส่วนใหม่จะพบว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นโรงงานผลิตเสาเข็มคุณภาพเกรดเอ ส่วนเกรดบีมีประมาณ 40% ที่เหลืออีก 50% เป็นเกรดซี เนื่องจากโรงงานตั้งง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีมาก

ทั้งนี้ กรรมวิธีการผลิตเสาเข็มจำเป็นต้องอาศัยทีมงานที่มีความชำนาญและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ

เช่น ขั้นตอนการดึงเหล็กที่ขึงไว้ในเสาเข็ม จะต้องดึงให้ได้ถึงระดับ 80-90% ของอัตราการยืดตัวสูงสุด จากนั้นจึงค่อยตัดเหล็กเพื่อให้หดตัวกลับและยึดตัวกับคอนกรีต (เสาเข็ม) ได้เต็มประสิทธิภาพ ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญ เพราะถ้าใช้เครื่องมือดึงเหล็กที่ไม่มีคุณภาพเสาเข็มก็ไม่ได้มาตรฐาน

"โดยเฉลี่ยเสาเข็มที่ได้มาตรฐาน มอก.จะมีต้น ทุนสูงกว่าเสาเข็มที่ไม่มียี่ห้อประมาณ 10% เพราะธุรกิจนี้ต้องมีทีมงานบริการตอกเสาเข็มเข้ามาเกี่ยวข้อง

จึงอยากให้ผู้ประกอบการรวมทั้งเจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับเรื่องเสาเข็มมากขึ้น เหมือนกับการเลือกซื้อกระเบื้องหรือเฟอร์นิเจอร์"

แน่นอนว่าของฟรีไม่มีในโลก ปลูกบ้านสักหลังถ้าเลือกใช้บริษัทเสาเข็มที่มีประสบการณ์มานานย่อมจะอุ่นใจกว่าเพราะมีข้อมูลความแข็ง-อ่อนของชั้นดินในพื้นที่แต่ละแห่ง เช่น พื้นที่ที่ดินอ่อนย่อมต้องแนะนำลูกค้าให้เผื่อความยาวเสาเข็มจากแบบไว้ เพื่อให้ตอกได้ลึกขึ้น เหมือนเป็นการซื้อความ สบายใจ

"กับกรณีที่มีข่าวบ้านทรุดเป็นเรื่องที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เรื่องนี้ถ้าเกิดจากเสาเข็มจะมีโอกาสเกิดจากสาเหตุหลัก 3 ข้อ คือ ความยาวของเสาเข็มไม่เหมาะกับผลการตรวจสอบความอ่อนแข็งของดินในบริเวณที่ก่อสร้าง การเชื่อมต่อเสาเข็ม และการตอกเสาเข็มได้ศูนย์หรือไม่"

14 สาเหตุปัญหาบ้านทรุด

โฟกัสมาที่เรื่องสาเหตุการทรุดตัวของอาคาร วสท.ได้สรุปสาเหตุไว้ด้วยกัน 14 ข้อคือ 1) น้ำหนักอาคารมากกว่าความสามารถในการรับน้ำหนักของฐานราก สาเหตุอาจมาจากการใช้อาคารผิดวัตถุ ประสงค์ การออกแบบหรือการประเมินกำลังในการรับน้ำหนักเกินจริง เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอหรือมีการถมดินหลังจากก่อสร้างเพื่อยกระดับแก้ปัญหาน้ำท่วม

2) ฐานรากบกพร่องซึ่งมักเกิดจากการก่อสร้างไม่ได้คุณภาพจนทำให้เนื้อคอนกรีตเป็นโพรง กำลังของคอนกรีตในการรับน้ำหนักต่ำกว่าค่าที่ใช้ในการออกแบบ การฝืนตอกเสาเข็มลงในชั้นดินแข็ง เสาเข็มแตกร้าวระหว่างการขนส่งหรือติดตั้ง การเชื่อมรอยต่อเสาเข็มที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือนำเสาเข็มที่บ่มไม่ได้อายุมาใช้งาน

3) การออกแบบฐานรากไม่เหมาะกับการรับน้ำหนักหรือลักษณะการกระจายของน้ำหนัก

4) ใช้เสาเข็มยาวไม่เท่ากันซึ่งเกิดจากการออกแบบที่พิจารณาเฉพาะกำลังการรับน้ำหนักของเสาเข็มเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงการทรุดตัวของเสาเข็ม

5) การใช้เสาเข็มความยาวเท่ากันแต่วางบนชั้นดินความแข็งอ่อนต่างกัน ทำให้เกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน

6) การต่อเติมอาคารผิดวิธี

7) การใช้ฐานรากต่างชนิดกัน เช่น การใช้เสาเข็มเจาะร่วมกับเสาเข็มตอก ซึ่งการทรุดตัวของเสาเข็มเจาะจะมีมากกว่า

8) การตอกเสาเข็มเยื้องศูนย์ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับฐานรากที่เป็นเสาเข็มต้นเดียวและโดยทั่วไปมักพบกับงานก่อสร้างที่ใช้เข็มตอก

9) การเคลื่อนตัวด้านข้างของดินในบริเวณนั้น เช่น การกัดเซาะของน้ำบริเวณตลิ่ง 10) ฐานรากเสาเข็มที่ก่อสร้างในดินที่ถมแล้วแต่ไม่ได้ทำให้เกิดการทรุดตัวเต็มที่

11) การทรุดตัวของดินในบริเวณนั้นและสร้างความเสียหายให้กับเสาเข็ม 12) การผุกร่อนของฐานรากจากปฏิกิริยาเคมีทำให้เสาเข็มได้รับความเสียหาย

13) คุณภาพวัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน และ 14) การผุพังตามกาลเวลาเนื่องจากวัสดุหมดอายุ

สรุปว่าให้เริ่มต้นแก้แบบล้อมคอกก่อนวัวหาย ผู้บริโภคจะเลือกซื้อหรือสร้างบ้านครั้งต่อไปต้องใส่ใจมากกว่าโครงสร้างบนดิน เพราะข้อมูล วสท. ฟันธงแล้วว่า ฐานรากใต้ดินนี่แหละตัวการสำคัญปัญหาบ้านทรุด !

  
ที่มา
[ ประชาชาติธุรกิจ ] วันที่ 01-06-2549 

ค้นหาข่าวด้วยรหัส

รหัส








webmaster คลิกที่นี่

Copyright 2002 freesplans Design solution, Inc.